คณะทีมประเทศไทย เยี่ยมชมโรงงาน 6 โรงงาน ณ เมืองเจียอี้

คณะทีมประเทศไทย เยี่ยมชมโรงงาน 6 โรงงาน ณ เมืองเจียอี้

วันที่นำเข้าข้อมูล 8 ต.ค. 2564

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 979 view

วันที่ 24 ก.ย. 2564 ผู้อำนวยการใหญ่สนง.การค้าฯ นาย ธงชัย ชาสวัสดิ์ และคณะทีมประเทศไทยได้เยี่ยมชมโรงงาน ณ เมืองเจียอี้ทั้งหมด 6 โรงงาน และมีกิจกรรมพบปะ หารือความร่วมมือระหว่างด้านการค้า การลงทุน และแรงงานระหว่างไทยและไต้หวัน ตลอดจนสร้างเครือข่ายกับหน่วยงานปกครองท้องถิ่นเมืองเจียอี้ ระหว่างงานเลี้ยงอาหารค่ำ ณ โรงแรม Hsin Hotel โดยบรรยากาศเป็นไปอย่างเป็นมิตร

การเยี่ยมชมโรงงานในครั้งนี้ เป็นโอกาสในการสร้างเครือข่ายกับนักธุรกิจ/นักลงทุนไต้หวัน ที่มีความสนใจในการขยายการลงทุนไปสู่ประเทศไทย โอกาสด้านการค้าระหว่างไทยและไต้หวัน รวมทั้ง เป็นโอกาสในการหาตลาดแรงงานสำหรับแรงงานไทย โดยผู้ประกอบการไต้หวันส่วนมากแสดงความชื่นชมต่อฝีมือ ทัศนคติและอุปนิสัยของแรงงานไทย รายละเอียดเกี่ยวกับโรงงานทั้ง 6 แห่ง มีดังนี้

1.โรงงานผลิตน้ำส้มสายชูเพื่อสุขภาพ Pai Chai Chen 

โรงงาน Pai Chia Chen ณ เมืองเจียอี้ ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2516 ปัจจุบันเป็นโรงงานผลิตน้ำส้มสายชูเพื่อสุขภาพที่ใหญ่ที่สุดในไต้หวัน โดย Pai Chia Chen ใช้กระบวนการผลิตด้วยวิธีการหมักแบบดั้งเดิม ร่วมกับการใช้เทคโนโลยีอัตโนมัติในการบรรจุและตรวจสอบคุณภาพสินค้า โดยมุ่งมั่นที่จะผลิตน้ำสมสายชูที่ดีต่อสุขภาพให้กับผู้บริโภค ซึ่งในอนาคต Pai Chia Chen อาจพิจารณาขยายฐานการผลิตของตนไปยังประเทศไทย

2.โรงงานผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ YASCO 

โรงงาน YASCO ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2523 เป็นผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ ผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพ และผลิตภัณฑ์ป้องกันการบาดเจ็บสำหรับนักกีฬา และหน้ากากอนามัย โดยบริษัท YASCO ใช้ระบบควบคุมคุณภาพระดับมืออาชีพและมีประสิทธิภาพในการผลิต รวมทั้งได้รับใบรับรองระดับสากลของ ISO9001, ISO13485, CE, FDA ด้วย อีกทั้งในอนาคตทาง YASCO จะมีการร่วมมือกับแบรนด์กีฬาชั้นนำเพื่อขยายสายผลิตภัณฑ์และตอบสนองความต้องการของกลุ่มลูกค้าที่ชื่นชอบการออกกำลังกาย

3.โรงงาน SF Chen Brother 

โรงงาน SF Chen Brother ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2530 ผู้ผลิตพรมรถยนต์และพรมปูพื้นชั้นนำของโลก โรงงานแห่งนี้มีฐานการผลิตอยู่สองแห่งได้แก่ ไต้หวันและจีน โดยโรงงานที่ไต้หวันมุ่งเน้นส่งออกสินค้าไปยังตลาดญี่ปุ่น ซึ่งมีฐานลูกค้าที่สำคัญอย่าง โตโยต้า ฮอนด้า และโรงงานที่จีนมุ่งเน้นส่งออกสินค้าไปยังตลาดอเมริกา ซึ่งนอกเหนือจากเป็นผู้ผลิตพรมแล้ว SF Chen Brother ยังเป็นผู้ผลิตวัสดุป้องกันน้ำรั่ว และท่อน้ำ PVC ที่ใช้ในการก่อสร้างอุโมงค์ หรือ ทางรถไฟ โดยในปี 2562 โรงงานแห่งนี้เคยเป็นผู้ผลิตวัสดุป้องกันน้ำรั่วให้กับไทยในโครงการก่อสร้างทางรถไฟ และในอนาคตมีแผนการที่จะขยายโรงงานการผลิตไปที่ประเทศไทย เนื่องจาก ไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์ที่สำคัญ

นอกเหนือจากนี้ ทางด้านแรงงาน โรงงานแห่งนี้มีแรงงานชาวต่างชาติเป็นชาวเวียดนามและชาวไทยเป็นหลัก ซึ่งทางผู้ประกอบการเจ้าของโรงงานกล่าวว่ามีความยินดีที่จะรับแรงงานต่างชาติชาวไทย พร้อมทั้งออกใบอนุญาตทำงานให้อย่างถูกต้อง เมื่อสถานการณ์โรคโควิด-19 ทุเลาลง

4.โรงงาน Lin Horn 

โรงงาน Lin Horn ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ 2538 ผู้ผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอกนิกส์ อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์การสื่อสาร รวมถึงอุปกรณ์บันทึกวีดีโอ โดย Lin Horn ก้าวพัฒนาไปพร้อมกับเทคโนโลยี และ ปรับปรุงคุณภาพการผลิตโดยใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งได้รับใบรองรับระดับสากล CNS 15506 IATF16949 และ ISO45001 โรงงานแห่งนี้มีแรงงานไทยเป็นจำนวนทั้งสิ้น 60 คน โดยแรงงานไทยได้ให้การต้อนรับคณะเดินทางทีมประเทศไทยอย่างอบอุ่น ขณะนี้ทางโรงงานมีความต้องการแรงงานไทยเพิ่มจำนวน 20 คน ซึ่งทางผอ.สนง.แรงงานไทเปและเกาสง ได้มีการเจรจาหารือการร่วมจัดสรรงานให้กับแรงงานไทยในเบื้องต้นเป็นที่เรียบร้อย

5.โรงงาน FATEK

โรงงาน FATEK ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2535 ผู้ผลิตเครื่องกัดวัสดุซับซ้อน,อุปกรณ์ควบคุมเครื่องจักร,HTML,Software และอุปกรณ์ Power Supply โดยโรงงาน FATEK เป็นผู้ผลิตเทคโนโลยีที่บริการครบวงจร ร่วมกับการทำงานของ IoT ณ ปัจจุบันโรงงานมุ่งเน้นการผลิตกับอุตสาหกรรมทั้งหมด 5 แขนงประกอบด้วย ระบบอัตโนมัติภายในโรงงาน (Factory Automation) ควบคุมการจราจร (Transport Control) พลังงานสีเขียว (Green Energy) ระบบบริหารจัดการอัตโนมัติภายในอาคาร (Buliding Automation) และ ระบบตรวจจับสิ่งแวดล้อม (Environmental Monitoring) ซึ่งโรงงาน FATEK มีสำนักงานในต่างประเทศทั้งหมด 4 แห่ง ได้แก่ จีน สหรัฐอเมริกา อินเดีย และ ไทย 

6.โรงงาน KAIS Group 

KAIS Group มีโรงงานการผลิตภายใต้เครือ KAIS ทั้งหมด 4 โรงงาน ได้แก่ โรงงาน Hanlon TravelWare,Winner TravelWare,Winhunt Co., และ Wintek ซึ่งเป็นโรงงานที่มีฐานการผลิตในไทย โดยโรงงาน Hanlon TravelWare ถือเป็นโรงงานฐานการผลิตหลักของ KAIS Group ผู้ผลิตกระเป๋าเดินทางส่งออกจำหน่ายทั่วโลก 

หลังจากสิ้นสุดการเยี่ยมชมโรงงานทั้ง 6 แห่ง ผู้อำนวยการใหญ่สนง.การค้าฯ นาย ธงชัย ชาติสวัสดิ์ และคณะเดินทางทีมประเทศไทย ได้เดินทางไปร่วมรับประทานอาหารค่ำที่โรงแรมโรงแรม Hsin Hotel ร่วมกับแขกผู้มีเกียรติจากไต้หวัน เพื่อกระชับมิตรไมตรีและร่วมอำลาผู้อำนวยการใหญ่ เดินทางกลับสู่ประเทศไทยโดยสวัสดิภาพ

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ