ไต้หวันเดินหน้านโยบาย 12 ปี สู่ประเทศสองภาษา

ไต้หวันเดินหน้านโยบาย 12 ปี สู่ประเทศสองภาษา

วันที่นำเข้าข้อมูล 7 มี.ค. 2562

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 26 พ.ย. 2565

| 871 view

         นโยบายปฎิรูปไต้หวันสู่ประเทศสองภาษา (Bilingual Nation) ภายในปี 2573 คือ 1 ใน 4 นโยบายสำคัญที่จะได้รับการผลักดันในปี 2062 โดยเมื่อเดือนธันวาคม 2561 ไต้หวันได้อนุมัติแผนนโยบายฯ ซึ่งร่างโดย National Development Council (NDC)

         นโยบายฯ มีเป้าหมายหลัก 2 ประการ คือ 1. ปลูกฝังความสามารถด้านภาษาอังกฤษให้ประชาชน ด้วยการจัดให้มีแพลตฟอร์ม (platforms) สำหรับการเรียนรู้ภาษาอังกฤษ การจัดระบบการเรียนสองภาษาให้มีประสิทธิภาพ รวมถึงเสริมสร้างทักษะด้านการฟัง พูด อ่าน เขียน และ 2. ยกระดับการแข่งขันกับนานาชาติ กล่าวคือ เพิ่มความแข็งแกร่งในการแข่งขันของอุตสาหกรรมไต้หวัน และยกระดับการพัฒนาเศรษฐกิจไต้หวัน

        นายไล่ ชิงเต๋อ ผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไต้หวันขณะนั้น กล่าวในเดือนธันวาคม 2561 ว่ากลุ่มเป้าหมายของนโยบายฯ ไม่ใช่เฉพาะกลุ่มนักเรียนเท่านั้น แต่มุ่งหมายให้ประชาชนทุกคนมุ่งมั่นศึกษาภาษาอังกฤษ เพื่อยกระดับทางภาษาของไต้หวันขึ้นเป็นการแข่งขันระดับชาติ

        แนวทางกลยุทธ์เพื่อการเป็นประเทศสองภาษาภายใน 12 ปี ได้แก่

       1. การสร้างแพลตฟอร์มสำหรับการเรียนรู้ภาษาอังกฤษและการแปลแบบครบวงจร (Establishing an integrated English learning and translation resources platform)

       NDC จะร่วมมือกับรัฐบาลและศูนย์การเรียนและแปลที่เป็นเอกชน จัดเตรียมเครื่องมือสำหรับผู้ใช้ทุกระดับเพื่อเพิ่มความสามารถทั้งด้านการ ฟัง พูด อ่าน และเขียน โดยเนื้อหาของเว็บไซต์จะประกอบด้วย เครื่องมือสำหรับแปลภาษาอังกฤษ แหล่งข้อมูลสำหรับเรียนรู้ภาษาอังกฤษ เครื่องมือทดสอบระดับภาษาอังกฤษออนไลน์ และช่องทางเชื่อมต่อไปยังเว็บไซต์ภาษาอังกฤษของหน่วยงานรัฐ

       2. กลยุทธ์ทั่วไป (General strategies)

       ข้อมูลและเอกสารที่เกี่ยวข้องกับชาวต่างชาติจะได้รับการจัดทำเป็นสองภาษา ตัวอย่างเช่น แบบฟอร์มต่างๆ กฎหมายและกฎระเบียบ เอกสารประชาสัมพันธ์และหนังสือคู่มือต่างๆของรัฐ เป็นต้น ทั้งนี้เว็บไซต์ของภาครัฐจะจัดทำเป็นสองภาษาทั้งหมด โดยตั้งเป้าว่าเว็บไซต์ภาครัฐจำนวนเกินกว่าร้อยละ 70  จะต้องมีหน้าเว็บไซต์รูปแบบภาษาอังกฤษภายในหนึ่งปี

       3. กลยุทธ์เฉพาะหน่วยงาน (Individual strategies)

       หน่วยงานรัฐแต่ละแห่งดำเนินการผลักดันนโยบายฯ ให้เป็นรูปธรรม เช่น กระทรวงวัฒนธรรมจะดำเนินการส่งเสริมและชักชวนให้รายการโทรทัศน์ผลิตและออกอากาศรายการภาษาอังกฤษ กระทรวงคมนาคมจะดำเนินการพัฒนาทักษะความสามารถในการสื่อสารภาษาอังกฤษของผู้ให้บริการ ด้านคมนาคม ทั้งทางบก ทะเล และอากาศ เช่น พนักงานขับรถแท๊กซี่หรือพนักงานขับรถประจำทางเพื่อการท่องเที่ยว กระทรวงแรงงานจะมีการจัดทำเว็บไซต์และคู่มือสองภาษาสำหรับแรงงานต่างชาติ เป็นต้น

       ทั้งนี้ เพื่อเตรียมบุคลากรครูให้พร้อมสำหรับการสอนภาษาอังกฤษบางวิชาในโรงเรียนระดับชั้นประถมและมัธยมศึกษาตอนต้น มหาวิทยาลัย จำนวน 19 แห่ง ในไต้หวัน จึงได้วางแผนจัดหลักสูตรการอบรมครูภาษาอังกฤษ และจัดตั้งศูนย์วิจัยการสอนภาษาอังกฤษ ซึ่งได้เริ่มวิจัยและพัฒนาเครื่องมือและวิธีการสอนแล้ว โดยกระทรวงการศึกษาคาดว่าจะมีครู จำนวน 2,000 คน สำเร็จการอบรมภายในปี 2565 และจะมีจำนวนครูกว่า 5,000 คน ภายในปี 2573 เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายฯ

       แหล่งข้อมูล

       Blueprint for Developing Taiwan into a Bilingual Nation by 2030

       http://focustaiwan.tw/news/aedu/201901300015.aspx