ผู้แทน สนง. การค้าฯ เข้าร่วมพิธีเปิดการประชุมหัวข้อ Women's Economic Empowerment Summit

ผู้แทน สนง. การค้าฯ เข้าร่วมพิธีเปิดการประชุมหัวข้อ Women's Economic Empowerment Summit

วันที่นำเข้าข้อมูล 1 พ.ค. 2562

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 666 view

              เมื่อวันที่ 17 เม.ย. 2562 น.ส. เปมิกา ลุสนานนท์ เลขานุการเอก หัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ ได้เป็นผู้แทน สนง. การค้าฯ เข้าร่วมพิธีเปิดการประชุมหัวข้อ Women's Economic Empowerment Summit - Global Cooperation and Training Framework ณ Taiwan Academy of Banking and Finance ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงเศรษฐการไต้หวัน กต. ไต้หวัน และ American Institute in Taiwan (AIT) โดยในครั้งนี้ Japan-Taiwan Exchange Association ได้เป็นเจ้าภาพร่วมด้วย การประชุมจัดขึ้นระหว่างวันที่  17 - 18 เม.ย. 2562 สาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้

              1. พิธีเปิด 

                  1.1 นาย Sze-Chien Hsu รมช. กต. ไต้หวัน กล่าวแสดงความขอบคุณ Taiwan Academy of Banking and Finance, AIT และ Japan-Taiwan Exchange Association สำหรับความร่วมมือในการจัด กปช. ในครั้งนี้ รวมถึงกล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมจาก 18 ประเทศจากแถบอินโด-แปซิฟิค ปีนี้ครบรอบ 40 ปีของความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวันและสหรัฐฯ ไต้หวันจึงมุ่งเน้นที่จะพัฒนาความสัมพันธ์ระดับทวิภาคีกับสหรัฐฯ กปช. GCTF ในครั้งนี้ นอกจากจะเป็นความร่วมมือในระดับทวิภาคีระหว่างทั้งสองฝ่ายแล้ว ยังเป็นโอกาสของไต้หวันในการแบ่งปันความรู้ความเชี่ยวชาญในการส่งเสริมสิทธิสตรีในที่ทำงานในระดับพหุภาคีอย่างเปิดกว้างและเสรีต่อประเทศในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิคอีกด้วย และครั้งนี้ ตนมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ ญป. ได้ร่วมเป็น cohost ของ กปช.

                  รัฐบาลไต้หวันให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมสิทธิสตรี ไต้หวันมีความโดดเด่นในการผลักดันการทำงานของสตรีในตลาดแรงงาน โดยไต้หวันได้ถูกจัดให้อยู่ในอันดับที่ 8 ในตัวชี้วัดของ Mastercard Index of Women Entrepreneurs of 2018  และจากข้อมูลของกระทรวงเศรษฐการไต้หวันในปี 2561 กว่าหนึ่งส่วนสามของผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมของไต้หวันเป็นสตรี

                  แม้ว่าการเสริมสร้างศักยภาพทางเศรษฐกิจของสตรี (women's economic empowerment) ได้พัฒนามาไกลแล้ว แต่ก็ยังสามารถพัฒนาได้อีกทั้งในไต้หวันและต่างประเทศ การส่งเสริมสิทธิสตรีเป็นเรื่องที่ไร้พรมแดนและเป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายต้องร่วมกันหลักดัน และปิดท้ายด้วยการกล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมอย่างเป็นทางการอีกครั้ง และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าทุกท่านจะเก็บเกี่ยวประสบการณ์ที่ดีและได้มีโอกาสสัมผัสสถานที่ท่องเที่ยวและวัฒนธรรมที่สวยงามของไต้หวัน

                  1.2 นาย James Moriarty, Chairman of American Institute in Taiwan (AIT) กล่าวว่า ปีนี้ครบรอบ 40 ปีของความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และไต้หวัน และ AIT มีกำหนดจัดกิจกรรมต่าง ๆ ตลอดทั้งปี และ GCTF ถือเป็นความร่วมมือที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีเยี่ยมระหว่างสหรัฐฯ กับไต้หวัน นอกจากนี้ ตนมีความยินดีอย่างยิ่งที่ ญป. ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการเป็น co-host ของ กปช. GCTF ในครั้งนี้ด้วย

                  นาย James Moriarty กล่าวว่า ตนเข้าใจถึงอุปสรรคต่าง ๆ ที่ไต้หวันต้องเผชิญในการมีส่วนร่วมกับนานาประเทศ ซึ่ง GCTF คือหนึ่งช่องทางที่สหรัฐฯ ช่วยไต้หวันในการตอบโจทย์ความท้าทายดังกล่าว GCTF เป็นช่องทางให้ไต้หวันได้สามารถติดต่อและร่วมมือกับประเทศในอินโด-แปซิฟิค แบ่งปันประสบการณ์และร่วมกันแก้ปัญหาระดับโลก จากที่ตนได้ร่วมโครงการต่าง ๆ ของ GCTF ตนรู้สึกตื่นเต้นกับงานนี้อย่างมาก เนื่องจากการเสริมสร้างศักยภาพของสตรีเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดอันหนึ่งในการกระตุ้นเศรษฐกิจ อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมความเท่าเทียมและความเสมอภาค

                  สหรัฐฯ และไต้หวัน มีความร่วมมือทางด้านการเสริมสร้างศักยภาพทางเศรษฐกิจของสตรีมายาวนาน ทั้งสองได้ให้การสนับสนุน APEC sub-fund on women's empowerment นอกจากนี้ กต. สหรัฐฯ ได้ให้การสนับสนุนการจัดตั้ง StartOpps โครงการร่วมระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนของฝ่ายไต้หวันและฝ่ายสหรัฐฯ วัตถุประสงค์หลักเพื่อการมุ่งใต้ เพื่อการบูรณาการ Digital Startup Ecosystem ของสหรัฐฯ ไต้หวัน และประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นอกจากนี้ POWER คืออีกหนึ่งโครงการร่วมระหว่าง บ. Goldman Sachs บ. Microsoft และ บ. Facebook วัตถุประสงค์เพื่อเป็นเครื่องมือในการทำงานให้แก่ผู้ประกอบการสตรีในไต้หวันและประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตนหวังเป็นอย่างยิ่งว่า กปช. จะเป็นประโยชน์ต่อผู้เข้าร่วมจากทุกประเทศและทุกท่านจะสามารถสร้างเครือข่ายที่เหนียวแน่นเพื่อร่วมมือกันส่งเสริมการมีส่วนร่วมของสตรีในตลาดแรงงานต่อไป

             2. รายละเอียดการประชุมฯ

                 2.1 วัตถุประสงค์ เพื่อหารือและส่งเสริม 4 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1. การประกอบธุรกิจ (entrepreneurship) 2. การมีส่วนร่วมของสตรีในภาคเทคโนโลยีชั้นสูง (women in high-tech sectors)  3. การพัฒนาระดับสากลและความมั่งคั่งของสตรี (women's global development and prosperity) และ 4. ความสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงาน (work-life balance)

                 2.2 หัวข้อ กปช. ประกอบด้วย 1. ความสำคัญในการเสริมสร้างศักยภาพทางเศรษฐกิจของสตรี 2. การใช้เทคโนโลยีและผลกระทบต่อสังคม 3. ความร่วมมือระหว่างภาครัฐบาลและเอกชน และ 4. บทบาทของสตรีในธุรกิจขนาดย่อม

                 2.3 ผู้เข้าร่วม กปช. ประกอบด้วยผู้แทนภาคเอกชน ผู้ประกอบการ นักลงทุน และผู้แทนภาครัฐจาก 15 ประเทศ อาทิ แคนาดา ออสเตรเลีย อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สหรัฐฯ อินโดนีเซีย และรวมถึงผู้แทนจากหน่วยงานไทย 2 ราย ได้แก่ 1. ด.ร. ณ ฤดี เคียงศิริ เป็นผู้ประสานงาน BPW International Asia-Pacific Regional และ 2. น.ส. วิมลกานต์ โกสุมาศ รองผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม

             3. ภูมิหลัง GCTF 

                 GCTF คือเวทีร่วมระหว่างสหรัฐฯ -ไต้หวัน ในการส่งเสริมความร่วมมือในระดับภูมิภาคและระดับโลก โดยให้ความสำคัญกับประเด็นด้านพลังงาน การพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-commerce) สาธารณสุข และการรู้เท่าทันสื่อ (media literacy) นับจนถึงปัจจุบันได้มีการจัด workshop ระดับนานาชาติมาแล้ว 16 ครั้ง มีผู้แทน/สมาชิกกว่า 300 คน จาก 33 ประเทศและเขตเศรษฐกิจ

             4. บทบาทของสตรีในตลาดแรงงานไต้หวัน

                 เมื่อเดือน ก.พ. 2562 World Bank เผยในรายงานเกี่ยวกับสตรี ธุรกิจ และกฏหมาย (Women, Business and the Law report) ว่า ไต้หวันเป็นประเทศเดียวในเอเชียที่ได้รับคะแนนมากกว่า 90 จาก 100 ประเทศที่มีความโดดเด่นด้านการพัฒนาความเสมอภาคทางเพศ และเป็นหนึ่งในหกประเทศในโลกที่ได้กำจัดข้อจำกัดในการทำงานของผู้หญิงทั้งหมด