ไต้หวันประสบความสำเร็จปลอดโรคปากเปื่อยเท้าเปื่อยโดยไม่ใช้วัคซีนมา 12 เดือน

ไต้หวันประสบความสำเร็จปลอดโรคปากเปื่อยเท้าเปื่อยโดยไม่ใช้วัคซีนมา 12 เดือน

วันที่นำเข้าข้อมูล 1 ส.ค. 2562

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 791 view

              ไต้หวันอยู่ระหว่างดำเนินการยื่นเรื่องต่อ World Organization for Animal Health - OIE เพื่อขอสถานะเป็น “พื้นที่ปลอดโรคปากและเท้าเปื่อยโดยไม่ใช้วัคซีน (Foot-and-Mouth Disease free country without vaccination)” หลังจากหยุดการใช้วัคซีนมาเป็นระยะเวลากว่า 1 ปี โดยคาดว่าจะสามารถประกาศสถานะใหม่อย่างเป็นทางการได้ในเดือน พ.ค. 2563 และหวังว่าสถานะนี้จะสร้างโอกาสทางการส่งออกเนื้อหมูและธุรกิจฟาร์มหมูให้กับไต้หวันในอนาคต

              ไต้หวันต้องประสบการระบาดที่รุนแรงของโรคปากและเท้าเปื่อยครั้งแรกเมื่อปี 2540 โดยพบการติดเชื้อในฟาร์มสุกรกว่า 6,147 แห่ง มีจำนวนสุกรเป็นโรคกว่า 4 ล้านตัว คิดเป็นร้อยละ 37.7 ครั้งนั้นรัฐบาลต้องเสียค่าใช้จ่ายในการควบคุมการแพร่ระบาดประมาณ 11.7 พันล้านดอลลาร์ไต้หวัน (ประมาณ 11.7 พันล้านบาท) และสูญเสียมูลค่าตลาดมากกว่า 49.6 พันล้านดอลลาร์ไต้หวัน (ประมาณ 48.9 พันล้านบาท) จากการที่ไม่สามารถส่งเนื้อหมูออกไปขายยังต่างประเทศได้ หลังความพยายามและทำงานอย่างหนักกว่า 22 ปี ไต้หวันในวันนี้ไม่เพียงสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโรคได้แต่ยังเป็นพื้นที่ที่ปลอดจากโรคปากเปื่อยและเท้าเปื่อยและกำลังก้าวสู่การปลอดจากโรคปากเปื่อยเท้าเปื่อยโดยไม่ใช้วัคซีนอย่างเป็นทางการหลังจากหยุดการใช้วัคซีนมาเป็นระยะเวลากว่า 12 เดือน ตั้งแต่ ก.ค. 2561

             มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรในไต้หวัน

             ด้านโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (African Swine Fever) ซึ่งกำลังแพร่ระบาดอย่างหนักในทวีปเอเชียโดยเฉพาะ จีน กัมพูชา เวียดนาม ลาว มองโกเลีย และเกาหลีเหนือ ถือเป็นโรคติดต่อร้ายแรงในสุกร เนื่องจากเชื้อไวรัสสามารถคงอยู่ได้นานในสภาพแวดล้อมต่าง ๆ จากข้อมูลของ Bureau of Animal and Plant Health Inspection and Quarantine สภาเกษตรของไต้หวัน เชื้อไวรัสอหิวาต์แอฟริกาสามารถคงอยู่ได้เป็นเวลา 11 วัน ในเนื้อหมูอุณหภูมิห้อง 100 วัน ในเนื้อหมูที่เย็น 1,000 วัน ในเนื้อหมูแช่แข็ง และคงอยู่ได้ถึง 1 เดือน ในโรงเรือน นอกจากนี้ยังแพร่เชื้อได้รวดเร็วเพียงการสัมผัส เศษอาหาร สิ่งปฎิกูล หรือสารคัดหลั่ง ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีวัคซีนหรือยารักษา ดังนั้นหากมีการแพร่ระบาดเกิดขึ้นย่อมส่งผลเสียหายร้ายแรงต่ออุตสาหกรรมด้านสุกร รัฐบาลไต้หวันได้ออกมาตรการควบคุมที่เข้มงวดเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสต่างถิ่นนี้ดังนี้

              ประการแรก ออกกฎห้ามพกพาเนื้อสัตว์ทุกชนิดและทุกประเภทเข้าไต้หวัน โดยเมื่อวันที่ 19 ธ.ค. 2562 ทางการไต้หวันประกาศเพิ่มค่าปรับสูงสุด 1 ล้านดอลลาร์ไต้หวัน (ประมาณ 1 ล้านบาท) โดยหากถูกพบครั้งแรกจะถูกปรับเป็นเงิน จำนวน 200,000 ดอลลาร์ไต้หวัน (ประมาณ 200,000 บาท) หากไม่ยินยอมจ่ายค่าปรับจะปฏิเสธการเข้าประเทศทันที และหากกระทำความผิดเป็นครั้งที่ 2 จะถูกปรับสูงสุดเป็นเงินจำนวน 1 ล้านดอลลาร์ไต้หวัน (ประมาณ 1 ล้านบาท) ที่ผ่านมามีการตรวจพบผู้ลักลอบพกพาเข้าไต้หวันหลายราย อาทิ เมื่อวันที่ 12 ธ.ค. 2561 นักท่องเที่ยวชาวจีนโดนปรับ 200,000 ดอลลาร์ไต้หวัน จากการพกพาผลิตภัณฑ์ที่ทำจากไก่ เป็ด หมู และ เนื้อ 1.2 กิโลกรัมในกระเป๋าเดินทาง วันที่ 27 ก.พ. 2562 นักท่องเที่ยวชาวเวียดนามถูกปฏิเสธการเดินทาง เข้าไต้หวันเนื่องจากปฎิเสธการจ่ายค่าปรับ 200,000 ดอลลาร์ไต้หวัน จากการพกพาอาหารทานเล่นที่มีส่วนผสมของเนื้อหมูและไก่

ประการที่สอง ทำการตรวจสอบเรือประมงทุกลำและตู้คอนเทนเนอร์เข้าสู่ไต้หวัน รวมถึงกำหนดให้ติด GPS ที่ยานพาหนะกว่า 1,400 คันที่ใช้ขนส่งสุกร เพื่อติดตามและป้องกันในกรณีฉุกเฉินได้อย่างทันที

 

              เนื้อหมูจากจีนมีความเสี่ยงและถูกตรวจพบผลบวกอยู่ทุกเดือน

              สภาการเกษตรไต้หวันรายงานว่า ระหว่างวันที่ 14 ธ.ค. 2561 ถึงวันที่ 26 พ.ค. 2562 มีผู้ถูกลงโทษปรับจากการนำเข้าเนื้อสัตว์มีจำนวนทั้งสิ้น 962 ราย ซึ่งเป็นผู้เดินทางมาจาก จีน เวียดนาม ญี่ปุ่น เกาหลี ไทย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และเมียนมาร์ นอกจากนี้ยังมีรายงานเพิ่มเติมว่าระหว่างวันที่ 27 ส.ค. 2561 ถึงวันที่ 16 พ.ค. 2562 มีเนื้อหมูที่ได้รับการทดสอบเชื้อไวรัสอหิวาต์แอฟริกาในสุกรจำนวน  1,642 ครั้ง ในจำนวนนี้ตรวจพบผลบวกจำนวน 59 ครั้ง โดยป็นเนื้อหมูที่มาจากจีน 57 ครั้งและจากเวียดนาม 2 ครั้ง และไต้หวันยังคงตรวจพบผลบวกจากเนื้อหมูจากจีนอยู่ทุกเดือนตั้งแต่เดือน ส.ค. 2562 ดังนั้น เนื้อหมูจากจีนจึงยังมีความเสี่ยงและต้องอยู่ในการเฝ้าระวังต่อไป  

 

 

ข้อมูลจาก

https://www.taiwannews.com.tw/en/news/3602562

https://english.ey.gov.tw/News_Content2.aspx?n=8262ED7A25916ABF&sms=DD07AA2ECD4290A6&s=857FF798FB9A75A2

https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/10972111

http://focustaiwan.tw/news/asoc/201903270016.aspx

https://www.taiwannews.com.tw/en/news/3648683

https://asf.baphiq.gov.tw/view_rss.php?id=29

 

รูปภาพจากหน้าปกจาก

www.taiwannews.com.tw/en/news/3709314