ไต้หวันหารือเคล็ดลับการก้าวสู่ตลาดประเทศเป้าหมาย New Southbound อย่างยั่งยืน

ไต้หวันหารือเคล็ดลับการก้าวสู่ตลาดประเทศเป้าหมาย New Southbound อย่างยั่งยืน

วันที่นำเข้าข้อมูล 3 พ.ค. 2561

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 821 view

            หัวใจในการก้าวสู่ตลาดประเทศเป้าหมาย New Southbound กล่าวคือ การพัฒนาความสัมพันธ์กับผู้เล่นในตลาดและเข้าใจลักษณะของตลาดก่อนที่จะเริ่มกระบวนการผลิต

            เมื่อวันที่ 24 เม.ย. 2561 สนข. Taipei Time รายงานว่า เมื่อวันที่ 11 เม.ย. 2561 Taiwan External Trade Development Council หรือ TAITRA ได้จัดการสัมมนา "2018 New Southbound Policy Business Forum" ณ ไทเป ไต้หวัน เพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นและองค์ความรู้เกี่ยวกับปัจจัยสำคัญในการก้าวสู่ตลาดประเทศในอาเซียน และประเทศแถบเอเชียแปซิฟิกตามนโยบาย New Southbound ของไต้หวัน

ในการสัมมนาฯ วิทยากรผู้มีประสบการณ์ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับการก้าวสู่ตลาดของประเทศเป้าหมายอย่างยั่งยืน ดังนี้

 

            นาย Alfred Chen (陳飛龍) ประธานบริษัท Namchow (南僑) ประเทศไทย วิจารณ์ว่า "นักธุรกิจไต้หวันในระดับผู้จัดการ มักมองตำแหน่งชั่วคราวในประเทศอาเซียนและประเทศแถบเอเชียแปซิฟิก          เป็นทางลัดที่จะได้เลื่อนตำแหน่งและได้เงินมากยิ่งขึ้นก่อนที่จะกลับไต้หวัน แต่สิ่งนี้จะไม่เกิดขึ้นกับบริษัท Namchow ซึ่งเมื่อได้ไปประจำที่นั้นแล้ว หมายความว่าคุณจะต้องย้ายถิ่นฐานไปอยู่ที่นั่น (Once you go, you migrate.)

            บริษัท Namchow (南僑) ได้ก่อตั้งบริษัทในปี ค.ศ. 1991 ประกอบธุรกิจด้านโภคภัณฑ์ ร้านอาหารและอาหารสำเร็จรูป ซึ่งใช้ส่วนประกอบจากข้าวเป็นหลัก ได้ตั้งมั่นว่า จะสร้างบริษัทให้มั่งคงอย่างยั่งยืนซึ่ง 26 ปีต่อมา บริษัทฯ ได้ประสบความสำเร็จจากการเป็นที่รู้จักจากผู้คนในพื้นที่และเข้าสู่ตลาดอย่างยั่งยืน

            นาย Chen กล่าวด้วยว่า "ผู้บริหารระดับสูงของบริษัท Namchow ทุกคนในประเทศไทยสามารถปรับตัว ให้เข้ากับวัฒนธรรมท้องถิ่น สามารถสื่อสารภาษาไทยได้อย่างคล่องแคล่ว ทั้งยังมีบางรายที่ย้ายถิ่นฐานหรือเริ่มต้นสร้างครอบครัวที่นั่นอีกด้วย"

            สำหรับนาย Chen เองก็ได้พำนักอยู่ในไทยกว่า 25 ปีแล้ว และยังไม่คิดจะย้ายออกจากประเทศไทย

            การมีความรับผิดชอบต่อประเทศเป้าหมายเป็นสิ่งสำคัญที่จะได้รับความไว้วางใจจากพนักงานในท้องถิ่น โดย บริษัท Namchow ได้รับรางวัลจากรัฐบาลไทย ในด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมการเกษตรของประเทศในระยะยาว

            บริษัทฯ ได้ใช้ประเทศไทยเป็นฐานกระจายและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ไปทั่วโลก ซึ่งตลาดที่ประสบความสำเร็จมากที่สุด ได้แก่ สหรัฐฯ ออสเตรเลียและยุโรป

            นาย Chen ได้กล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า “ผู้ประกอบการจะต้องสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้เล่นในตลาดก่อนที่จะเริ่มผลิตสินค้า เพราะคู่ค้าเปรียบเสมือนเมล็ดพันธุ์แห่งการเติบโตในอนาคต (Trade partners are the seeds of future growth.)”

 

            นาย James C. F. Huang  Chairman, TAITRA กล่าวถึงความท้าทายในการลงทุนในประเทศอินเดียซึ่งผู้ประกอบการไต้หวันต่างลงความเห็นว่า อินเดียเป็นตลาดที่เข้ายากที่สุดในโลก หากแต่ทัศนคติเช่นนี้ เป็นเพราะผู้ลงทุนยังไม่เข้าใจและปรับตัวให้เข้ากับตลาดของประเทศอินเดีย

            นาย Huang ยกตัวอย่าง บริษัท Karma ไต้หวัน ซึ่งเป็นบริษัทที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์สำหรับผู้พิการในอินเดีย ต้องทำความเข้าใจตลาดและปรับลดราคาของผลิตภัณฑ์เพื่อให้ได้รับการยอมรับจากตลาดท้องถิ่นของอินเดีย โดยปัจจุบัน บริษัทมีผลประกอบการที่ดีและเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ  

            นอกจากนี้ นาย Huang ยังกล่าวเสริมด้วยว่า "ผู้ประกอบการที่จะเข้าไปดำเนินการลงทุนในอินเดียจะต้องตระหนักว่า เราไม่เพียงแต่ผลิตในอินเดีย หากแต่ต้องผลิตเพื่ออินเดีย (Not only make in India but make for India) โดยอินเดียเป็นสถานที่ฝึกฝนในการประกอบธุรกิจที่ดีที่สุดในโลก ถ้าผู้ประกอบการสามารถผ่านแบบทดสอบจากที่นั่น ผู้ประกอบการจะสามารถลงทุนได้ทุกที่ในโลก"

 

            นาย Guo-kai Hu (胡國愷) ผู้จัดการทั่วไป, บริษัท Karma ไต้หวันประจำประเทศอินเดีย กล่าวว่า "สิ่งสำคัญที่สุดคือ การลดความซับซ้อนของผลิตภัณฑ์และลดราคาลงให้มากที่สุดเพื่อให้อยู่ในราคาที่ชาวอินเดียจะสามารถจับต้องได้ ซึ่งราคาที่ผู้ประกอบการไต้หวันเห็นว่าต่ำแล้ว ก็ยังถือว่าเป็นราคาที่สูงสำหรับตลาดอินเดีย"

            นาย Hu กล่าวเสริมอีกว่า "ผู้ประกอบการชาวไต้หวันจำนวนมากต้องการผลิตผลิตภัณฑ์ เพียงประเภทเดียวและหวังจะจำหน่ายให้แก่คนทั่วโลก หากแต่ในอินเดีย ผู้ประกอบการต้องมาอยู่ระยะยาวเพื่อสร้างความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างธุรกิจกับลูกค้าและให้ฝ่ายพัฒนาผลิตภัณฑ์ของบริษัทสามารถนำคำแนะนำจากลูกค้าโดยตรงมาปรับแต่งผลิตภัณฑ์ให้ดียิ่งขึ้นได้"

 

            นาย Leslie Chen (陳治守) จากบริษัท Pro Greens บริษัทผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า กล่าวว่า "อินเดียเป็นประเทศที่มีความซับซ้อนจึงต้องใช้เวลากว่า 1 ปี ในการจัดตั้งบริษัท โดย "รถยนต์ไฟฟ้า"  จำเป็นต้องมีโครงสร้างพื้นฐานของระบบที่จำเป็นอย่างการชาร์จไฟฟ้าและการบำรุงรักษาซึ่งเป็นสิ่งที่อินเดีย และประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังขาดแคลนอยู่ หากเป็นตลาดสหรัฐฯ นั้นสามารถเชื่อถือได้ เนื่องจากผู้ซื้อในสหรัฐฯ มีความแน่นอน และไม่ค่อยเปลี่ยน  คู่ค้าทางธุรกิจ"

            นอกจากนี้ นาย Leslie Chen ยังกล่าวเสริมอีกว่า "หากรัฐบาลไต้หวันต้องการให้ผู้ประกอบการเข้าไปลงทุน ในอินเดีย ภาครัฐต้องพัฒนาวิธีการทำงานมากยิ่งขึ้นเช่นกัน"

 

            ในช่วงสุดท้ายของการสัมมนาฯ ได้เน้นดึงตลาดอินเดียซึ่งเป็นตลาดใหญ่ TAITRA จึงควรให้ความสำคัญกับการอนุมัติใบอนุญาตการวิจัยและพัฒนาด้านเทคโนโลยี รวมถึงใบอนุญาตการออกแบบด้านการผลิตหรือด้านการค้า การว่าจ้างงานพนักงานในพื้นที่มากขึ้น รวมถึงตระหนักถึงปัญหาการประกันการส่งออกมากยิ่งขึ้น

            ในปีที่ผ่านมา สถิติทางการค้าระหว่างไต้หวันกับประเทศเป้าหมายได้เพิ่มมากขึ้นเป็นมูลค่ากว่า 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยส่วนใหญ่เป็นการนำเข้ามากกว่าการส่งออกจากไต้หวัน ซึ่งหากผู้ประกอบการไต้หวันต้องการที่จะได้รับผลประโยชน์จากการขยายตลาดไปยังประเทศเป้าหมาย ผู้ประกอบการจะต้องมีความมุ่งมั่นที่จะเข้าถึงประเทศเป้าหมายที่ต้องการจะเข้าไปลงทุนอย่างแท้จริง รวมถึงการปรับตัวให้เข้ากับท้องถิ่นนั้นด้วย (localization)

"ขอขอบคุณภาพจากเว็บไซต์ Taipei Time : www.taipeitimes.com/News/feat/archives/2018/04/24/2003691883"

 

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ