ไต้หวันกับสังคมผู้สูงอายุ

ไต้หวันกับสังคมผู้สูงอายุ

วันที่นำเข้าข้อมูล 4 ม.ค. 2562

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 1,611 view

                                  ขอบคุณรูปภาพจาก Flickr user Victoria Lin and www.taiwannews.com.tw

 

              หนึ่งในการเปลี่ยนแปลงทางสังคมของโลกที่สำคัญที่สุดในศตวรรษที่ 21 คือการก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมในหลายด้าน เช่น การลดลงของแรงงาน ความต้องการด้านสินค้าและบริการ ที่อยู่อาศัย การเดินทางที่เหมาะสม รวมถึงการให้ความช่วยเหลือด้านสวัสดิการและการรักษาพยาบาล นอกจากนี้ ยังมีผลกระทบต่อโครงสร้างของครอบครัวในด้านช่องว่างระหว่างวัย ดังนั้นหลายประเทศจึงออกนโยบายเพื่อรองรับผลกระทบจากการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ

              ไต้หวันเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความเจริญก้าวหน้าด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางการแพทย์ และมีระบบสวัสดิการทางสังคมที่ครอบคลุมและเข้าถึง ชาวไต้หวันจึงมีมาตรฐานชีวิตที่ดีและมีอายุยืนยาวมากขึ้นจากการได้รับโภชนาการที่ดีและมียารักษาโรคที่ทันสมัย ในขณะที่อัตราเกิดในหลายปีที่ผ่านมาอยู่ในระดับต่ำ ดังนั้น ไต้หวันจึงก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในเวลาอันรวดเร็ว

               จากรายงานของ Interior Affair Authority พบว่า เมื่อเดือนมีนาคม 2561 ไต้หวันมีจำนวนผู้สูงอายุหรือประชากรที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป คิดเป็นร้อยละ 14.05 ของประชากรทั้งประเทศ ซึ่งเป็นอัตราส่วนที่ทำให้ไต้หวันกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ (Aged society) และคาดว่าในอีกเพียง 8 ปีข้างหน้า ไต้หวันจะกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มที่ (Super aged society) หรือมีประชากรที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป คิดเป็นร้อยละ 20 ของประชากรทั้งประเทศ เมื่อถึงเวลานั้น จะมีผู้สูงอายุ 1 คน ในจำนวนประชากรทุก ๆ 5 คน ทั้งนี้ผลสำรวจที่น่าตกใจยิ่งขึ้นไปอีก พบว่า ในปี 2604 (ประมาณ 43 ปีข้างหน้า) อัตราส่วนของผู้สูงอายุต่อผู้ใหญ่ (ช่วงอายุ 15 – 64 ปี) จะเท่ากับ 1.2 นั่นหมายความว่า ผู้ใหญ่ 1 คนจะต้องดูแลผู้สูงอายุ 1 คนเลยทีเดียว

               เมื่อต้นปี 2560 รัฐบาลไต้หวันได้ประกาศดำเนินโครงการ Long-term care 2.0 (LTC 2.0) ด้วยงบประมาณ 40 พันล้านดอลลาร์ไต้หวัน (ประมาณ 43 พันล้านบาท) ต่อปี เป็นระยะเวลา 10 ปี โดยจัดให้มีหน่วยงานทั้งหมด 3 หน่วยงาน ร่วมกันทำงานช่วยเหลือผู้สูงอายุที่เจ็บป่วยหรือมีข้อจำกัดทางร่างกายให้เข้าถึงการบริการที่จำเป็นภายในเวลา 30 นาที แต่ละหน่วยงานมีภาระกิจดังนี้

               ส่วนที่ 1   A Neighborhood-based LTC Station หรือสถานดูแลในละแวกใกล้เคียง สถานดูแลในส่วนนี้จะช่วยดูแลผู้ป่วยชั่วคราวเพื่อแบ่งเบาภาระของผู้ดูแลหลัก (respite care) และดูแลเรื่องการตรวจโรคที่มีความเสี่ยง (preventing care) สำหรับผู้สูงอายุและสมาชิกครอบครัว

              ส่วนที่ 2   A Complex Service Center หน่วยงานบริการส่วนนี้จะให้ความช่วยเหลือในรูปแบบศูนย์ดูแลแบบไม่ค้างคืน (day care centers) การจัดให้มีผู้ดูแลที่บ้าน (home-based nursing care) การพักฟื้น การเคลื่อนย้ายผู้ป่วย การปรับปรุงที่อยู่อาศัย และแนะนำเทคโนโลยีสำหรับการช่วยเหลือ และ

              ส่วนที่ 3   A Community Integrated Service Center หรือศูนย์บริการชุมชน โดยหน่วยงานส่วนนี้ จะทำหน้าที่ประสานงานระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ระบุความต้องการของท้องถิ่น ปรับปรุงพัฒนาบริการที่เกี่ยวข้องและให้ข้อมูลต่าง ๆ

              อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน LTC 2.0 ยังคงขาดแคลนสิ่งอำนวยความสะดวกหลายประการในการดูแลชุมชน เช่น ศูนย์ดูแลแบบไม่ค้างคืน และยังคงขาดแคลนผู้ดูแลผู้สูงอายุที่มีความเชี่ยวชาญ เนื่องจากมีเงื่อนไขการทำงานและค่าตอบแทนที่ต่ำกว่ามาตรฐาน ทั้งนี้ ไต้หวันคาดว่าอาจจะมีรายจ่ายมากถึง 70 พันล้านดอลลาร์ไต้หวันต่อปี (ประมาณ 75.95 พันล้านบาท) ในการดูแลประชากรผู้สูงอายุในช่วง 5 ปีสุดท้ายของโครงการ ซึ่งรัฐบาลจำเป็นต้องหาเงินมาสมทบเพิ่มเติม นโยบายรับมือกับสังคมผู้สูงอายุในไต้หวัน จึงยังเป็นเรื่องที่น่าจับตามองและติดตามความคืบหน้าต่อไป

 

ขอบคุณข้อมูลจาก  www.taiwannews.com.tw  และ http://arc2018.aarpinternational.org