สถานการณ์เศรษฐกิจในไต้หวัน ประจำไตรมาสที่ 3/2566

สถานการณ์เศรษฐกิจในไต้หวัน ประจำไตรมาสที่ 3/2566

วันที่นำเข้าข้อมูล 2 พ.ย. 2566

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 12 ธ.ค. 2566

| 2,034 view
econupdatelogo
  1. ภาพรวมเศรษฐกิจไต้หวัน

1.1 อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ

เมื่อวันที่ 18 ส.ค. 2566 สำนักสถิติและบัญชีกลางไต้หวันประกาศปรับลดตัวเลขคาดการณ์ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของไต้หวันในปี 2566 ลงมาอยู่ที่ร้อยละ 1.61 จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 2.04 เมื่อเดือน พ.ค. 2566 ซึ่งเป็นการขยายตัวของ GDP ที่ต่ำสุดในรอบ 8 ปี

อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไต้หวันมีสัญญาณปรับตัวดีขึ้น เห็นได้จาก GDP ในไตรมาสที่ 2 ที่ขยายตัวร้อยละ 5.62 เมื่อเทียบกับไตรมาสแรก และคาดว่าในไตรมาสที่ 3 จะขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 11.33 นอกจากนี้ การพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ (AI) ทั่วโลกอาจส่งผลให้นักลงทุนไต้หวันเพิ่มการใช้จ่ายมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไต้หวันในปี 2567 โดยคาดว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 3.32

1.2 มูลค่าการค้า

กระทรวงการคลังไต้หวัน ระบุว่า ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2566 ไต้หวันมีปริมาณการส่งออกรวม 114,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงร้อยละ 5.1 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2565 ขณะที่ปริมาณการนำเข้ามีมูลค่ารวม 87,490 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงร้อยละ 19.0 ทำให้ไต้หวันได้เปรียบดุลการค้าเป็นมูลค่า 27,410 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 111.2 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2565 โดยการส่งออกในเดือน ก.ย. กลับมาขยายตัวเป็นบวก และมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องในไตรมาสที่ 4

1.3 สถานการณ์เงินเฟ้อ

สำนักสถิติฯ ไต้หวัน ระบุว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2566 ปรับตัวขึ้นร้อยละ 2.44 โดยมีปัจจัยหลักจากราคาอาหารที่เพิ่มสูงขึ้นเนื่องด้วยผลกระทบจากพายุไต้ฝุ่น และราคาเชื้อเพลิงที่เพิ่มสูงขึ้นจากราคาน้ำมันดิบโลกที่ปรับตัวขึ้น ขณะที่ธนาคารกลางไต้หวันประกาศตัวเลขคาดการณ์ CPI ของไต้หวันในปี 2566 อยู่ที่ร้อยละ 2.22 และจะลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 1.83 ในปี 2567

ทั้งนี้ ในการประชุมกำหนดนโยบายประจำไตรมาสเมื่อวันที่ 21 ก.ย. 2566 ธนาคารกลางไต้หวันมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 1.875 ติดต่อกันเป็นไตรมาสที่สอง ทว่าธนาคารกลางไต้หวันจะยังคงดำเนินนโยบายทางการเงินที่เข้มงวดต่อไป โดยเฉพาะเมื่อราคาสินค้ามีความผันผวนจากปัจจัยด้านความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ และการค้าโลก

1.4 การลงทุน

กระทรวงเศรษฐการไต้หวัน ระบุว่า การลงทุนของไต้หวันในต่างประเทศระหว่างเดือน ม.ค.-ก.ย. 2566 มีมูลค่ารวม 17,480 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 190.06 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2565 โดยมีแรงหนุนหลักจากแผนการลงทุนของ TSMC ในการสร้างโรงงานผลิตชิปขั้นสูงสองแห่งในรัฐแอริโซนา

การลงทุนของไต้หวันในประเทศเป้าหมายตามนโยบายมุ่งใต้ใหม่ระหว่างเดือน ม.ค.-ก.ย. 2566 คิดเป็นมูลค่า 4,330 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 65.49 โดยส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในสิงคโปร์ เวียดนาม และไทย ขณะที่การลงทุนจากประเทศเป้าหมายตามนโยบายมุ่งใต้ใหม่ในไต้หวันคิดเป็นมูลค่า 2,460 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 25.59 โดยส่วนใหญ่เป็นการลงทุนจากสิงคโปร์ ไทย และมาเลเซีย

1.5 สถานการณ์การจ้างงาน

อัตราการว่างงานเฉลี่ยระหว่างเดือน ก.ค.-ก.ย. 2566 คิดเป็นร้อยละ 3.53 โดยมีผู้ว่างงานทั้งสิ้น 423,000 คน ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 4.66 ขณะที่มีการจ้างงานทั้งสิ้น 11,543,000 ตำแหน่ง เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 1.27 ทั้งนี้ อัตราการว่างงานมักมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นระหว่างเดือน มิ.ย.-ส.ค. เนื่องจากเป็นช่วงสำเร็จการศึกษา ทว่าในปีนี้บัณฑิตจบใหม่สามารถหางานได้เร็วขึ้น อันเป็นผลมาจากความต้องการแรงงานในอุตสาหกรรมบริการที่เพิ่มสูงขึ้น กอปรกับผู้ว่างงานจากธุรกิจที่ลดขนาดหรือปิดกิจการมีอัตราลดลง ส่งผลให้ตลาดแรงงานในไตรมาสที่ 3 มีเสถียรภาพ

  1. การประกาศนโยบายของรัฐบาลไต้หวันในช่วงไตรมาสที่ 3 ปี 2566

2.1 การสนับสนุนนโยบาย Net Zero Emission 2050

เมื่อวันที่ 7 ส.ค. 2566 ไต้หวันเปิดแพลตฟอร์มซื้อขายคาร์บอนเครดิต (Carbon Exchange) ก่อตั้งโดยตลาดหลักทรัพย์ไต้หวัน และกองทุนเพื่อการพัฒนาแห่งชาติภายใต้สภาบริหารไต้หวัน มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่เมืองเกาสง ทั้งนี้ บริษัทไต้หวันสามารถใช้ประโยชน์จากการซื้อขายคาร์บอนเครดิตในการลดค่าธรรมเนียมคาร์บอนและบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน รวมถึงสนองตอบความต้องการของลูกค้า เช่น Apple และ Google ที่เรียกร้องให้บริษัทในห่วงโซ่อุปทานลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน

อนึ่ง ความพยายามของไต้หวันในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนคาดว่าจะก่อให้เกิดการลงทุนภาคเอกชนกว่า 4 ล้านล้านดอลลาร์ไต้หวัน มูลค่าการผลิตกว่า 5.9 ล้านล้านดอลลาร์ไต้หวัน และนำมาซึ่งการจ้างงานกว่า 550,000 ตำแหน่ง ในช่วงปี 2566-2573

2.2 การปรับเพิ่มอัตราค่าจ้างขั้นต่ำปี 2567

เมื่อวันที่ 14 ก.ย. 2566 ครม. ไต้หวันอนุมัติปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำรายเดือนจาก 26,400 ดอลลาร์ไต้หวัน เป็น 27,470 ดอลลาร์ไต้หวัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.05 และรายชั่วโมงจาก 176 ดอลลาร์ไต้หวัน เป็น 183 ดอลลาร์ไต้หวัน โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2567 คาดว่าจะมีแรงงานได้รับประโยชน์ 1.79 ล้านคน โดยเป็นแรงงานต่างชาติราว 341,800 คน

2.3 การจัดสรรงบประมาณเพื่อการพัฒนาเทคโนโลยี

รัฐบาลไต้หวันจัดสรรงบประมาณด้านเทคโนโลยี ปี 2567 จำนวน 156,900 ล้านดอลลาร์ไต้หวัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 18 สำหรับการพัฒนาเทคโนโลยีด้านเซมิคอนดักเตอร์ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ การบินและอวกาศ และ 6G โดยมีวัตถุประสงค์หลักในการเสริมสร้างบทบาทของไต้หวันในการเป็นผู้นำด้านการผลิต ทดสอบ และบรรจุเซมิคอนดักเตอร์ รวมถึงสร้างความแข็งแกร่งให้แก่ภาคการออกแบบวงจรรวม

กระทรวงเศรษฐการไต้หวันตั้งงบประมาณ ปี 2567 ราว 800 ล้านดอลลาร์ไต้หวัน เพื่ออุดหนุนบริษัทออกแบบวงจรรวมรายย่อยของไต้หวันในการพัฒนาชิปขั้นสูงต่ำกว่า 28 นาโนเมตร เพื่อรองรับการแข่งขันจากจีนที่อาจเกิดขึ้นภายหลังสหรัฐฯ ประกาศใช้มาตรการควบคุมการส่งออกเซมิคอนดักเตอร์ไปยังจีนเมื่อเดือน ต.ค. 2565 โดยจะเน้นให้เงินอุดหนุนแก่บริษัทที่พัฒนาเทคนิคขั้นสูง และเทคโนโลยีที่เป็นเทรนด์อุตสาหกรรมโลก เช่น ปัญญาประดิษฐ์ ห้องนักบินอัจฉริยะ และเทคโนโลยีการสื่อสาร

  1. สถานการณ์เศรษฐกิจระหว่างไต้หวัน-ไทย

3.1 ด้านการค้า กรมการค้าต่างประเทศไต้หวัน ระบุว่า ในไตรมาสที่ 3 ปี 2566 การค้าระหว่างไต้หวันและไทยมีมูลค่ารวม 4,398.30 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แบ่งเป็นมูลค่าการส่งออกรวมจากไต้หวันไปยังไทย 3,018.16 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และมูลค่าการนำเข้ารวมจากไทยมายังไต้หวัน 1,380.14 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยเป็นคู่ค้าลำดับที่ 12 ของไต้หวัน สินค้านำเข้าจากไทยมาไต้หวัน 3 อันดับแรก ได้แก่ (1) เครื่องจักรและอุปกรณ์ไฟฟ้า (728.17 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) (2) อาหารปรุงสำเร็จ เครื่องดื่ม สุรา น้ำส้มสายชู และยาสูบ (134.83 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) (3) ยานพาหนะ เครื่องบิน เรือ และอุปกรณ์การขนส่ง (83.02 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ขณะที่สินค้าส่งออกจากไต้หวันไปยังไทย 3 อันดับแรก ได้แก่ (1) เครื่องจักรและอุปกรณ์ไฟฟ้า (2,302.68 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) (2) แร่โลหะ (238.48 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) (3) พลาสติกและยาง (134.08 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)

3.2 ด้านแรงงาน กระทรวงแรงงานไต้หวัน ระบุว่า ในเดือน ก.ย. 2566 มีจำนวนแรงงานไทยในไต้หวันทั้งสิ้น 68,154 คน คิดเป็นร้อยละ 9.10 ของแรงงานต่างชาติทั้งหมดในไต้หวัน จำนวนแรงงานไทยเพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2565 ร้อยละ 3.12

3.3 ด้านการท่องเที่ยว กรมการท่องเที่ยวไต้หวัน ระบุว่า ในเดือน ก.ค.-ก.ย. 2566 มีนักท่องเที่ยวไต้หวันเดินทางไปไทย จำนวน 223,324 คน เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2565 เป็นจำนวน 8.39 เท่า (ช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้ามีจำนวน 26,612 คน) ขณะที่มีนักท่องเที่ยวจากไทยมาไต้หวัน จำนวน 74,651 คน เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2565 เป็นจำนวน 7.53 เท่า (ช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้ามีจำนวน 9,910 คน)

3.4 ด้านการลงทุน คณะกรรมการพิจารณาการลงทุนไต้หวัน ระบุว่า ในช่วงเดือน ม.ค.-ก.ย. 2566 มีโครงการลงทุนจากไต้หวันในไทย 38 โครงการ (เพิ่มขึ้นร้อยละ 322.22) คิดเป็นมูลค่าเงินลงทุน 385.27 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (เพิ่มขึ้นร้อยละ 227.58) อุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเงินลงทุนสูงสุด ได้แก่ (1) การผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ (125.17 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) (2) การค้าส่งและค้าปลีก (124.22 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) (3) การผลิตยานยนต์และชิ้นส่วน (45.72 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ขณะที่มีโครงการลงทุนจากไทยมายังไต้หวัน 18 โครงการ (เพิ่มขึ้นร้อยละ 38.46) คิดเป็นมูลค่าเงินลงทุน 119.15 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ลดลงร้อยละ 66.90) อุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเงินลงทุนสูงสุด ได้แก่ (1) ด้านบริการทางวิชาชีพ วิทยาศาสตร์ และทางเทคนิค (51.74 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) (2) การเงินและการประกันภัย (42.24 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) (3) การค้าส่งและค้าปลีก (23.52 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)

  1. ข้อมูลและข้อสังเกตเพิ่มเติม

4.1 เมื่อวันที่ 21 ก.ย. 2566 IMD (International Institute for Management Development) รายงานผลการจัดอันดับบุคลากรที่มีศักยภาพของ 64 ประเทศและเขตเศรษฐกิจทั่วโลก ประจำปี 2566 (World Talent Ranking) โดยไต้หวันได้อันดับ 20 ลดลง 1 อันดับจากปีก่อนหน้า แต่ยังคงเป็นอันดับ 3 ของเอเชียรองจากสิงคโปร์และฮ่องกง ตัวชี้วัดสำคัญในการจัดอันดับ ได้แก่ ด้านการลงทุนและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (ไต้หวันเป็นอันดับ 23) ด้านความสามารถในการดึงดูดบุคลากรจากภายนอก (ไต้หวันเป็นอันดับ 21) และด้านความพร้อมของบุคลากรภายใน (ไต้หวันเป็นอันดับ 19) อย่างไรก็ดี ปัจจัยย่อยด้านแรงงานที่มีทักษะ ด้านประสบการณ์ระดับนานาชาติ และด้านทักษะทางภาษามีอันดับลดลงอย่างเห็นได้ชัด โดยคณะกรรมการเพื่อการพัฒนาแห่งชาติไต้หวันชี้ว่ารัฐบาลอยู่ระหว่างการผลักดันนโยบายสองภาษา (Bilingual 2030) รวมถึงก่อตั้งสถาบันวิจัยในสาขาสำคัญและฐานฝึกอบรมทางเทคนิคระดับภูมิภาค โดยมีเป้าหมายเพื่อตอบสนองความต้องการในการพัฒนาอุตสาหกรรม และเตรียมความพร้อมบุคลากรที่มีศักยภาพของไต้หวันสำหรับตลาดโลก

4.2 บริษัทอิเล็กทรอนิกส์ไต้หวันยังคงทยอยลงทุนในไทยอย่างต่อเนื่องและมุ่งให้ไทยเป็นฐานผลิตเพื่อการส่งออก ทั้งนี้ เพื่อหลีกเลี่ยงความตึงเครียดกับจีนและแสวงหาต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่าในสหรัฐฯ และยุโรป โดยในช่วงเดือน ม.ค.-ส.ค. 2566 มีโครงการลงทุนจากบริษัทอิเล็กทรอนิกส์ไต้หวันได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุน 20 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนกว่า 30,000 ล้านบาท ประกอบด้วยผู้ผลิตแผ่นวงจรพิมพ์ (PCB) เป็นส่วนใหญ่ รวมถึงผู้ผลิตโน้ตบุ๊กให้แก่บริษัท HP ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) มีเป้าหมายผลักดันให้ไทยเป็นฮับอุตสาหกรรม PCB ในอาเซียนโดยอาศัยความร่วมมือจากบริษัทไต้หวัน ญี่ปุ่น และจีน

4.3 เมื่อวันที่ 14 ส.ค. 2566 จีนประกาศเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดโพลีคาร์บอเนตนำเข้าจากไต้หวันสูงสุดถึงร้อยละ 22.4 เพียงหนึ่งวันหลังจากรองประธานาธิบดีไล่ชิงเต๋อแวะผ่านสหรัฐฯ เพื่อนำคณะเดินทางเยือนสาธารณรัฐปารากวัยในโอกาสเข้าร่วมพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีคนใหม่ของสาธารณรัฐปารากวัย นอกจากนี้ จีนยังคงระงับการนำเข้าสินค้าเกษตรของไต้หวันอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อวันที่ 21 ส.ค. 2566 จีนประกาศระงับการนำเข้ามะม่วงจากไต้หวัน แต่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อไต้หวันเพียงเล็กน้อย เนื่องจากญี่ปุ่นและเกาหลีใต้กลายเป็นตลาดส่งออกหลักสำหรับมะม่วงไต้หวัน อีกทั้งยังจำหน่ายได้ราคาสูงกว่าในจีน

4.4 สำนักสถิติฯ ไต้หวัน คาดว่า ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์จะไม่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อราคาสินค้าโลก เนื่องจากอิสราเอลและปาเลสไตน์ไม่ได้ส่งออกน้ำมันดิบ ธัญพืช และสินค้าโภคภัณฑ์อื่น ๆ ซึ่งต่างจากรัสเซียและยูเครน อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบอาจผันผวนโดยขึ้นอยู่กับความเลวร้ายและความยืดเยื้อของสถานการณ์ รวมถึงประเทศที่เข้าไปเกี่ยวข้อง นอกจากนี้ การค้าระหว่างไต้หวันกับภูมิภาคดังกล่าวยังคงจำกัด จึงช่วยลดผลกระทบที่มีต่อตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจของไต้หวัน

ADVERTISEMENTLittle Thai Alley