สถานการณ์เศรษฐกิจในไต้หวัน ประจำไตรมาสที่ 4/2566

สถานการณ์เศรษฐกิจในไต้หวัน ประจำไตรมาสที่ 4/2566

วันที่นำเข้าข้อมูล 25 ม.ค. 2567

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 ม.ค. 2567

| 8,969 view
econupdatelogo
  1. ภาพรวมเศรษฐกิจไต้หวัน

1.1 อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ

เมื่อวันที่ 28 พ.ย. 2566 สำนักสถิติและบัญชีกลางไต้หวันปรับลดตัวเลขคาดการณ์ GDP ของไต้หวันในปี 2566 ลงมาอยู่ที่ร้อยละ 1.42 จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 1.61 เมื่อเดือน ส.ค. 2566 ซึ่งเป็น การขยายตัวของ GDP ที่ต่ำสุดนับตั้งแต่วิกฤตการเงินโลกเมื่อปี 2551 โดยมีปัจจัยจากการส่งออกที่ชะลอตัวลงและการลงทุนภาคเอกชนที่ซบเซา

การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 8.36 ซึ่งเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจไต้หวัน โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากตลาดแรงงานที่ปรับตัวดีขึ้นและการปรับขึ้นค่าแรง รวมถึงการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว โดยไต้หวันบรรลุเป้าหมายให้มีนักท่องเที่ยวต่างชาติมาเยือน 6 ล้านคน ตั้งแต่กลางเดือน ธ.ค. 2566

1.2 มูลค่าการค้า

จากข้อมูลของกระทรวงการคลังไต้หวันพบว่า ปริมาณการส่งออกของไต้หวันใน ปี 2566 มีมูลค่ารวม 432,479 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงร้อยละ 9.8 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2565 แต่ยังคงทำสถิติสูงสุดเป็นอันดับ 3 ในประวัติการณ์[1] ขณะที่ปริมาณการนำเข้ามีมูลค่ารวม 351,923 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงร้อยละ 17.8 ทำให้ไต้หวันได้เปรียบดุลการค้าเป็นมูลค่า 80,556 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 56.9 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2565

1.3 สถานการณ์เงินเฟ้อ

สำนักสถิติฯ ไต้หวัน ระบุว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ในปี 2566 ปรับตัวขึ้นร้อยละ 2.50 สูงสุดเป็นอันดับสองในรอบ 15 ปี รองจากปี 2565 ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.95 โดยมีปัจจัยหลักจากราคาผักและผลไม้ที่ เพิ่มสูงขึ้นเนื่องด้วยผลกระทบจากพายุไต้ฝุ่นในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 รวมถึงการปรับขึ้นของค่าเช่าบ้าน และค่าใช้จ่ายด้านบันเทิงซึ่งมีอุปสงค์เพิ่มขึ้น 

เมื่อวันที่ 14 ธ.ค. 2566 ธนาคารกลางไต้หวันมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ ร้อยละ 1.875 ติดต่อกันเป็นไตรมาสที่สาม เพื่อรักษาเสถียรภาพของตลาดการเงินไต้หวัน อย่างไรก็ดี โดยที่ CPI ยังคงเกินกว่าระดับเฝ้าระวัง (กำหนดไว้ที่ร้อยละ 2) ธนาคารกลางไต้หวันจึงจะยังตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้ในระดับสูงต่อไปจนถึงครึ่งแรกของปี 2567

1.4 การลงทุน

สำนักสถิติฯ ไต้หวัน ปรับลดตัวเลขคาดการณ์การลงทุนภาคเอกชนของไต้หวันในปี 2566 ลงมาอยู่ที่ร้อยละ 9.81 โดยมีสาเหตุหลักจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกที่ส่งผลให้ภาคธุรกิจเพิ่มความระมัดระวังในการลงทุน กอปรกับฐานที่สูงเมื่อเทียบกับปี 2565

การลงทุนของไต้หวันในประเทศเป้าหมายตามนโยบายมุ่งใต้ใหม่ (New Southbound Policy: NSP)[2] ระหว่างเดือน ม.ค. - ธ.ค. 2566 คิดเป็นมูลค่า 5,544 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.15 โดยส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในสิงคโปร์ เวียดนาม และไทย ขณะที่การลงทุนจากประเทศ NSP ในไต้หวันมีมูลค่ารวม 2,539 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 22.45 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2565 โดยส่วนใหญ่เป็นการลงทุนจากสิงคโปร์ ไทย และมาเลเซีย(การลงทุนจากไทยเป็นสาขาพลังงานทดแทน)

1.5 สถานการณ์การจ้างงาน

อัตราการว่างงานเฉลี่ยระหว่างเดือน ม.ค. – ธ.ค. 2566 คิดเป็นร้อยละ 3.48 ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า 0.19 จุดร้อยละ โดยมีผู้ว่างงานทั้งสิ้น 4.15 แสนคน ถือเป็นอัตราการว่างงานที่ต่ำสุดในรอบ 23 ปี ขณะที่มีการจ้างงานทั้งสิ้น 11.53 ล้านตำแหน่ง ทั้งนี้ แรงงานในภาคการผลิตลดลง 1.1 หมื่นคน เมื่อเทียบกับปี 2565 เนื่องด้วยอุปสงค์โลกที่ลดลง สวนทางกับภาคบริการที่มีความต้องการจ้างงานเพิ่มขึ้น 1.28 แสนคน โดยมีแรงหนุนจากการบริโภคภายในที่เติบโตขึ้นในยุคหลังโควิด 19 ตลาดการจ้างงานของไต้หวันในปี 2566 จึงยังคงมีเสถียรภาพแม้ว่าภาวะเศรษฐกิจโดยรวมจะไม่เข้มแข็งนัก

  1. การดำเนินนโยบายสำคัญของรัฐบาล

2.1 การสนับสนุนนโยบาย Net Zero Emission 2050

เมื่อวันที่ 22 ธ.ค. 2566 Taiwan Carbon Solution Exchange (TCX) เริ่มเปิดการซื้อขายเป็นครั้งแรก โดยมีการขายคาร์บอนเครดิตระหว่างประเทศให้แก่ 27 บริษัท (ซึ่งรวมถึง TSMC และ Foxconn) โดยคาร์บอนเครดิตชุดแรกมีที่มาจากสหราชอาณาจักร สวิตเซอร์แลนด์ สิงคโปร์ และไต้หวัน ผ่าน 7 โครงการคาร์บอนเครดิต ในสาขาเกี่ยวกับน้ำสะอาด การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ และก๊าซชีวภาพ ในเบื้องต้นเป็นการซื้อขายเฉพาะคาร์บอนเครดิตระหว่างประเทศ เนื่องจากกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขายคาร์บอนเครดิตในไต้หวันยังไม่แล้วเสร็จ แต่กระทรวงสิ่งแวดล้อมไต้หวันคาดว่าจะประกาศอย่างเป็นทางการในไตรมาสแรกของปี 2567 ทั้งนี้ ในปี 2568 จะเริ่มเก็บค่าธรรมเนียมคาร์บอนจากบริษัทที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนทั้งทางตรงและทางอ้อมเกิน 25,000 เมตริกตันต่อปีราว 512 บริษัท อาทิ อุตสาหกรรมไฟฟ้า เหล็กและเหล็กกล้า การกลั่นน้ำมัน ปูนซีเมนต์ เซมิคอนดักเตอร์ และจอแสดงผล TFT-LCD

บริษัท Taiwan Power (Taipower) รัฐวิสาหกิจด้านการไฟฟ้าของไต้หวันจะเริ่มจำหน่ายพลังงานทดแทนจากโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ของ Taipower ในปริมาณน้อยให้แก่ SMEs ไต้หวัน เพื่อช่วยให้สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน โดยตั้งแพลตฟอร์มสำหรับการประมูลพลังงานไฟฟ้าประเภท 1 หมื่น และ 5 หมื่นกิโลวัตต์ชั่วโมง สำหรับระยะเวลา 1 ปี 3 ปี หรือ 5 ปี ทั้งนี้ ได้นำร่องเปิดการประมูลพลังงานไฟฟ้า 10 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง รอบแรกในเดือน ต.ค. และรอบที่สองในเดือน พ.ย. 2566 ผู้ชนะการประมูลสามารถเริ่มใช้พลังงานทดแทนได้ในปี 2567 โดยอัตราค่าไฟฟ้าอยู่ที่ราว 4–5 ดอลลาร์ไต้หวัน ต่อกิโลวัตต์ชั่วโมง

สนง.บริหารทรัพย์สินแห่งชาติภายใต้กระทรวงการคลังไต้หวัน ร่วมกับ National Chung Hsin University ตั้งเป้าพัฒนาพื้นที่ของรัฐที่ไม่ได้ใช้งานในเมืองอี๋หลานและเมืองไถตงรวม 920,000 ตร.ม. ให้เป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอน (carbon sink) โดย สนง.บริหารทรัพย์สินฯ จะนำร่องเปิดประมูลให้เช่าที่ดินปลูกป่าเพื่อดูดซับคาร์บอนหลังเทศกาลตรุษจีนปี 2567 คาร์บอนเครดิตที่ได้ร้อยละ 90 จะเป็นของผู้ชนะการประมูล ขณะที่อีกร้อยละ 10 เป็นของรัฐ ทั้งนี้ การสร้างแหล่งกักเก็บคาร์บอนถือเป็นหนึ่งใน 12 ยุทธศาสตร์หลักของแผนลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนของรัฐบาล 

เมื่อวันที่ 20 พ.ย. 2566 ไต้หวันเริ่มก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนใต้พิภพหลิวหวงจื่อผิง ในพื้นที่ภูเขาไฟต้าถุน เขตจินซาน เมืองนิวไทเป ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนใต้พิภพที่ใหญ่ที่สุดในไต้หวัน มีกำลัง การผลิต 4 เมกะวัตต์ ผลิตไฟฟ้าได้ปีละ 25.6 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง สามารถจ่ายไฟฟ้าได้ว่า 6 พันครัวเรือน โดยมีกำหนด เปิดดำเนินการในปี 2568 นอกจากนี้ ในวันเดียวกันยังได้เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนใต้พิภพ ซื่อหวงจื่อผิง ซึ่งเป็นโครงการนำร่องขนาด 1 เมกะวัตต์ ที่อยู่ในเขตเดียวกัน สามารถผลิตไฟฟ้าได้ปีละ 6.4 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง และจ่ายไฟฟ้าได้ 1,500 ครัวเรือน ถือเป็นหมุดหมายสำคัญในการพัฒนาพลังงานทดแทนของไต้หวัน เนื่องจาก เป็นโรงไฟฟ้าแห่งแรกที่ใช้พลังงานจากภูเขาไฟ ซึ่งเป็นแหล่งพลังงานที่เสถียรและสามารถผลิตไฟฟ้าได้ตลอด 24 ชั่วโมง

2.2 การพัฒนาเทคโนโลยี

เมื่อวันที่ 2 พ.ย. 2566 ครม. ไต้หวันอนุมัติ งปม. 3 แสนล้านดอลลาร์ไต้หวัน สำหรับ “แผนนวัตกรรมอุตสาหกรรมที่ขับเคลื่อนด้วยชิป” ในระยะเวลา 10 ปี (ปี 2567-2576) โดยมุ่งผสาน generative AI กับการพัฒนาเซมิคอนดักเตอร์ที่ไต้หวันเป็นผู้นำในระดับโลก สำหรับปี 2567 รัฐบาลจะจัดสรร งปม. 8 พันล้านดอลลาร์ไต้หวัน ในการบ่มเพาะและดึงดูดบุคลากรที่มีความสามารถ ขณะที่อีก 4 พันล้านดอลลาร์ไต้หวัน จะใช้สำหรับการพัฒนา generative AI และชิป รวมถึงมาตรการดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติในไต้หวัน

เมื่อวันที่ 5 ธ.ค. 2566 คณะกรรมการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติไต้หวัน (NSTC) ประกาศเทคโนโลยีสำคัญที่ต้องอยู่ภายใต้การควบคุมอย่างเข้มงวด 22 รายการ เพื่อป้องกันการรั่วไหลของเทคโนโลยีไปยังจีน มาเก๊า ฮ่องกง หรือกลุ่มก่อการร้ายจากภายนอก รวมถึงส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันทางอุตสาหกรรมของไต้หวัน โดยครอบคลุม 5 อุตสาหกรรม ได้แก่ การป้องกันประเทศ การบินและอวกาศ การเกษตร เซมิคอนดักเตอร์ และเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ทั้งนี้ NSTC และกระทรวงที่เกี่ยวข้องจะดำเนินการทบทวนรายการเทคโนโลยีสำคัญอีกครั้งในอีก 3 เดือนข้างหน้า และแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงในด้านการพัฒนาเทคโนโลยี

คณะกรรมการเพื่อการพัฒนาแห่งชาติไต้หวัน (NDC) วางแผนเปิดสำนักงานด้านนวัตกรรมที่ซิลิคอนวัลเลย์ (Silicon Valley) ของสหรัฐฯ และกรุงโตเกียวในปี 2567 เพื่อส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมของไต้หวันสู่ความเป็นสากล อนึ่ง NDC ได้ก่อตั้งแบรนด์ Startup Island Taiwan เพื่อส่งเสริม startup ของไต้หวัน โดยมุ่งเน้น การช่วยเหลือผู้ประกอบการและนวัตกรหน้าใหม่ในการเดินทางไปยังประเทศต่าง ๆ กอปรกับในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาสภาพแวดล้อมในด้านนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ของไต้หวันเติบโตขึ้นมาก โดยมีบริษัทนวัตกรรมเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่า จาก 2,300 บริษัท เป็น 7,400 บริษัท จึงมีความจำเป็นต้องจัดตั้งสำนักงานในต่างประเทศ

2.3 การแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงาน

เมื่อวันที่ 1 พ.ย. 2566 ไต้หวันเปิด Talent Taiwan Office ศูนย์บริการเบ็ดเสร็จที่มุ่งสรรหาผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ และให้ความช่วยเหลือในการใช้ชีวิตในไต้หวันทั้งด้านที่อยู่อาศัย ธนาคาร ภาษี ประกันภัย การศึกษาบุตร รวมถึงสัตว์เลี้ยง โดยเป็นการขยายจาก Taiwan Employment Gold Card Office ซึ่งให้บริการเฉพาะ ผู้ถือบัตร Gold Card ไปยังผู้ถือวีซ่าผู้ประกอบการไต้หวัน รวมถึงผู้เชี่ยวชาญชาวต่างชาติอื่น ๆ ทั้งนี้ NDC มีเป้าหมายดึงดูดแรงงาน 4 แสนคน ภายในปี 2573 โดยเป็นผู้เชี่ยวชาญอย่างน้อย 7 หมื่นคน และส่วนที่เหลือเป็นแรงงานที่มีทักษะ

  1. คสพ. ทางเศรษฐกิจไต้หวัน-ไทย

3.1 ด้านการค้า

กรมการค้าต่างประเทศไต้หวันระบุว่า เดือน ม.ค.-ธ.ค. 2566 การค้าไต้หวัน-ไทย มีมูลค่ารวม 16,238.12 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นมูลค่าการส่งออกจากไต้หวันไปยังไทย 10,858.74 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และมูลค่าการนำเข้าจากไทยมายังไต้หวัน 5,379.37 ล้านดอลลาร์สหรัฐ[3] โดยไทยเป็นคู่ค้าลำดับที่ 12 ของไต้หวัน สินค้านำเข้าจากไทยมาไต้หวัน 3 อันดับแรก ได้แก่ (1) เครื่องจักรและอุปกรณ์ไฟฟ้า (2,772.47 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) (2) อาหารปรุงสำเร็จ เครื่องดื่ม สุรา น้ำส้มสายชู และยาสูบ (461.24 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) (3) พลาสติกและยาง (328.03 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ขณะที่สินค้าส่งออกจากไต้หวันไปยังไทย 3 อันดับแรก ได้แก่ (1) เครื่องจักรและอุปกรณ์ไฟฟ้า (7,857.49 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) (2) แร่โลหะ (1,043.85 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) (3) พลาสติกและยาง (505.50 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)

3.2 ด้านแรงงาน

กระทรวงแรงงานไต้หวัน ระบุว่า ในเดือน พ.ย. 2566 มีจำนวนแรงงานไทยในไต้หวันทั้งสิ้น 68,424 คนคิดเป็นร้อยละ 9.07 ของแรงงานต่างชาติทั้งหมดในไต้หวัน จำนวนแรงงานไทยเพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2565 ร้อยละ 2.18

3.3 ด้านการท่องเที่ยว

กรมการท่องเที่ยวไต้หวัน ระบุว่า ในเดือน ม.ค.-พ.ย. 2566 มีนักท่องเที่ยวไต้หวันเดินทางไปไทย จำนวน 706,662 คน เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2565 เป็นจำนวน 9.6 เท่า (ช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้ามีจำนวน 73,609 คน) ขณะที่มีนักท่องเที่ยวจากไทยมาไต้หวัน จำนวน 347,195 คน เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2565 เป็นจำนวน 7.98 เท่า (ช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้ามีจำนวน 43,522 คน)

3.4 ด้านการลงทุน

คณะกรรมการพิจารณาการลงทุนไต้หวัน ระบุว่า ในช่วงเดือน ม.ค.-ธ.ค. 2566 มีโครงการลงทุนจากไต้หวันในไทย 54 โครงการ (เพิ่มขึ้นร้อยละ 217.65) คิดเป็นมูลค่าเงินลงทุน 928.12 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (เพิ่มขึ้นร้อยละ 237.22) อุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเงินลงทุนสูงสุด ได้แก่ (1) การผลิตคอมพิวเตอร์ ผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์และออปติคอล (349.90 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) (2) การผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ (248.14 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) (3) การค้าส่งและค้าปลีก (177.70 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ขณะที่มีโครงการลงทุนจากไทยมายังไต้หวัน 29 โครงการ (เพิ่มขึ้นร้อยละ 81.25) คิดเป็นมูลค่าเงินลงทุน 120.67 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ลดลงร้อยละ 67.27) อุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเงินลงทุนสูงสุด ได้แก่ (1) ด้านบริการทางวิชาชีพ วิทยาศาสตร์ และทางเทคนิค[4](51.74 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) (2) การเงินและการประกันภัย (42.24 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) (3) การค้าส่งและค้าปลีก (23.81 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)

  1. ข้อมูลและข้อสังเกตเพิ่มเติม

4.1 การส่งออกของไต้หวันในปี 2566 พลิกกลับมาฟื้นตัวในไตรมาสที่ 4 โดยได้แรงหนุนหลักจาก ความต้องการอุปกรณ์ที่ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) รวมถึงผลิตภัณฑ์ iPhone 15 ส่งผลให้การส่งออกในอุตสาหกรรมสารสนเทศ การสื่อสาร และผลิตภัณฑ์เครื่องเสียง/วิดีโอขยายตัวร้อยละ 28.9 เมื่อเทียบกับปี 2565 สวนทางกับ อุตสาหกรรมหลักอื่น ๆ ที่ติดลบ ขณะที่การส่งออกชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ (รวมเซมิคอนดักเตอร์) ลดลงร้อยละ 10.7

4.2 ไต้หวันเผชิญกับแรงกดดันทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากจีน โดยจีนขยายข้อจำกัดทางการค้าจากสินค้าเกษตรเป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่ใช่เทคโนโลยี อาทิ การเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดโพลีคาร์บอเนตที่นำเข้าจากไต้หวัน

4.3 การลงทุนของไต้หวันในไทยในปี 2566 ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 237.22 นับเป็นการขยายตัวอย่างก้าวกระโดดเมื่อเทียบกับคู่แข่งในภูมิภาคอย่างสิงคโปร์ (ลดลงร้อยละ 27.52) และเวียดนาม (เพิ่มขึ้นร้อยละ 88.21) สำหรับภาคการผลิตคอมพิวเตอร์ ผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์และออปติคอล และภาคการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์เป็นอุตสาหกรรมที่ไต้หวันลงทุนมากที่สุดอันดับ 1 และอันดับ 2 ทั้งในไทยและเวียดนาม ทว่ามูลค่าการลงทุนในไทยมากกว่าเวียดนามอยู่ร้อยละ 33.44 และร้อยละ 13 ตามลำดับ

4.4 ในปี 2566 ไทยเป็นนักลงทุนอาเซียนอันดับสองในไต้หวัน รองจากสิงคโปร์ โดยการลงทุนส่วนใหญ่ของไทยในไต้หวันเป็นการขยายการลงทุนในสาขาพลังงานทดแทน อนึ่ง โดยที่พรรค DPP ยังคงเป็นรัฐบาลต่อไปอีก 4 ปี นโยบายด้านพลังงานของไต้หวันจึงยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ กล่าวคือ การเพิ่มสัดส่วนของพลังงานทดแทนเพื่อบรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ภายในปึ ค.ศ. 2050 โดยไม่ใช้พลังงานนิวเคลียร์จะยังคงดำเนินต่อไป ดังนั้น ความต้องการพลังงานทดแทน โดยเฉพาะจากสาขาพลังงานลมและแสงอาทิตย์ ที่ภาคเอกชนไทยมีการลงทุนอยู่ในปัจจุบัน ก็จะยังมีอุปสงค์อย่างต่อเนื่อง

[1] อันดับ 1 เมื่อปี 2565 มูลค่าการส่งออก 479,522 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และอันดับ 2 ในปี 2564 มูลค่าการส่งออก 446,448 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

[2] 18 ประเทศเป้าหมายของ NSP ได้แก่ อาเซียน 10 ประเทศ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อินเดีย บังกลาเทศ ภูฏาน เนปาล ปากีสถาน และศรีลังกา

[3] ไทยขาดดุลการค้าต่อไต้หวันมาตลอด โดยขาดดุลมากกว่า 2.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ตั้งแต่ปี 2553

[4] โครงการด้านพลังงานทดแทน

ADVERTISEMENTLittle Thai Alley