แนวโน้มเศรษฐกิจไต้หวันในปี 2567

แนวโน้มเศรษฐกิจไต้หวันในปี 2567

วันที่นำเข้าข้อมูล 30 ม.ค. 2567

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 31 ม.ค. 2567

| 2,470 view
econupdatelogo
  1. ภาพรวมเศรษฐกิจไต้หวันในปี 2567

1.1สำนักสถิติและบัญชีกลางไต้หวัน คาดว่า GDP ไต้หวันในปี 2567 จะขยายตัวร้อยละ 3.35 สอดคล้องกับคณะกรรมการเพื่อการพัฒนาแห่งชาติไต้หวัน (NDC) ที่คาดว่าเศรษฐกิจไต้หวันจะขยายตัวร้อยละ 3 โดยมีแรงหนุนจากเทคโนโลยีเกิดใหม่ เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (AI) การกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติ การฟื้นตัวของการบริโภคภาคเอกชน รวมถึงการขยายการลงทุนในสาขาเซมิคอนดักเตอร์และพลังงานทดแทน โดยการขยายตัวของ GDP น่าจะอยู่ในระดับทรงตัวเพื่อรอ super cycle ของอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ที่น่าจะเกิดในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2568

1.2 อย่างไรก็ดี ปัจจัยเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวัง ได้แก่ (1) นโยบายการเงินของประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่คงอัตราดอกเบี้ยในระดับสูง (2) เศรษฐกิจจีนที่มีการส่งออกและอุปสงค์ภายในอ่อนแอ รวมถึงปัญหาใหญ่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ (3) สงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยังคงดำเนินอยู ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อราคาพลังงานโดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาว และ (4) ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาสภาพภูมิอากาศที่รุนแรง

1.3 ธนาคารกลางไต้หวันคาดการณ์ว่า ภาวะเงินเฟ้อจะบรรเทาลงในปี 2567 โดยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) อาจลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 1.89 ซึ่งต่ำกว่าระดับเฝ้าระวัง (กำหนดไว้ที่ร้อยละ 2) โดยค่าใช้จ่ายในภาคบริการมีแนวโน้มลดลง ขณะที่ราคาสินค้าโภคภัณฑ์อาจปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อย

  1. แนวโน้มการลงทุนของภาคเซมิคอนดักเตอร์

2.1 ผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์ไต้หวันพร้อมด้วยบริษัทคู่ค้าที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานยังคงขยายการลงทุนไปยังต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง อาทิ TSMC อยู่ระหว่างการสร้างโรงงานผลิตชิปขั้นสูง 2 แห่งในมลรัฐแอริโซนา (มูลค่าเงินลงทุน 4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ) และในจังหวัดคุมาโมโตของญี่ปุ่น (มูลค่าเงินลงทุน 3.78 หมื่นล้านเยน) รวมถึงมีแผนจัดตั้งบริษัทร่วมทุนสร้างโรงงานผลิตชิปในเมืองเดรสเดนของเยอรมนี (มูลค่าเงินลงทุนราว 3.5 พันล้านยูโร) ขณะที่ UMC กำลังสร้างโรงงานผลิตชิปในสิงคโปร์ (มูลค่าเงินลงทุน 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) และ GlobalWafers Co. กำลังสร้างโรงงานผลิตแผ่นซิลิคอนเวเฟอร์ในรัฐเท็กซัส (มูลค่าเงินลงทุน 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ)

2.2 นอกจากนั้น ในอีก 5 ปีข้างหน้า NDC คาดการณ์ว่า บริษัทเซมิคอนดักเตอร์ไต้หวันจะขยาย การลงทุนทั่วโลกกว่า 2.1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่เน้นการผลิตชิปที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง (ชิปขนาด 3 นาโนเมตรหรือเล็กกว่า) ในไต้หวัน ขณะที่กระจายการผลิตชิปที่ใช้เทคโนโลยีเก่า (mature process) ไปยังต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และมาเลเซียตามความต้องการของลูกค้า ทั้งนี้ รัฐบาลจะส่งเสริมการลงทุนของธุรกิจเซมิคอนดักเตอร์ไต้หวันอย่างต่อเนื่องด้วยการให้ incentives ภายใต้กฎหมายว่าด้วยนวัตกรรมทางอุตสาหกรรม

  1. นโยบายเศรษฐกิจที่น่าจับตามองในปี 2567

3.1 การแสวงหาเสียงการสนับสนุนเพื่อเข้าเป็นสมาชิก CPTPP

แหล่งข่าว กต.ไต้หวัน เห็นว่า การที่แคนาดาซึ่งเป็นมิตรประเทศของไต้หวันเป็นประธานจัด การประชุม CPTPP ในปี 2567 จะเป็นโอกาสสำคัญของไต้หวันในการเข้าร่วม CPTPP และเพื่อใช้ประโยชน์จากโอกาสนี้ กต.ไต้หวันได้วางแผนแสวงหาช่องทางการเจรจาอย่างไม่เป็นทางการกับประเทศสมาชิกก่อนที่จะมีการจัดตั้งคณะเจรจาเพื่อภาคยานุวัติความตกลง (Accession Working Group) โดยจะมีการเจรจาโดยตรงกับผู้มีอำนาจตัดสินใจของประเทศสมาชิกที่เปิดกว้างในการรับไต้หวันเข้าร่วม ได้แก่ ญี่ปุ่น แคนาดา นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย และสหราชอาณาจักร สำหรับกลุ่มประเทศที่ไม่ได้มีแนวคิดคล้ายคลึงกันจะดำเนินการแลกเปลี่ยนผ่านตัวแทนในภาคธุรกิจและวิชาการแทน เพื่อช่วยสร้างบรรยากาศในการสนับสนุนไต้หวันมากยิ่งขึ้น

3.2 การแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน

ไต้หวันกำลังเผชิญปัญหาการขาดแคลนแรงงานจากอัตราการเกิดต่ำ และการเข้าสู่สังคมสูงอายุระดับสุดยอด (Super-aged Society) ในปี 2568 เพื่อบรรเทาปัญหาการขาดแคลนแรงงาน กระทรวงแรงงานไต้หวันมีแผนลงนาม MOU กับอินเดียภายในสิ้นปี 2566 เพื่อนำเข้าแรงงานอินเดีย อย่างไรก็ดี จนถึงขณะนี้ยังไม่มีการลงนาม MOU แต่อย่างใด ในเบื้องต้นการเปิดโควตาแรงงานอินเดียจะดำเนินการอย่างรอบคอบและค่อยเป็นค่อยไป โดยจะมี การรับรองคุณสมบัติของแรงงานเพื่อไม่ให้กระทบต่อเสถียรภาพทางสังคม เนื่องจากการเผยแพร่ข้อมูลเท็จว่าจะนำเข้าแรงงานอินเดียถึง 1 แสนคน ก่อให้เกิดความกังวลว่าจะกระทบความมั่นคงและเพิ่มอัตราการเกิดอาชญากรรมในไต้หวัน

สำหรับปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคบริการ กรมการท่องเที่ยวไต้หวันพยายามผลักดันให้มีการเปิดรับแรงงานต่างชาติในอุตสาหกรรมการโรงแรม อย่างไรก็ดี กระทรวงแรงงานไต้หวันยังไม่สนับสนุนแนวทางดังกล่าว โดยมุ่งเน้นให้ภาคโรงแรมพิจารณาจ้างงานชาวไต้หวันในกลุ่มผู้สูงอายุ หรือผู้หญิงที่ประสงค์จะกลับมาทำงาน อีกครั้งหลังมีบุตรก่อนเป็นอันดับแรก หากไม่ประสบผลสำเร็จก็อาจพิจารณาเปิดรับแรงงานต่างชาติ

3.3 การส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัล

รัฐบาลไต้หวันตั้งเป้าขยายเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) สู่มูลค่า 6.5 ล้านล้านดอลลาร์ไต้หวันภายในปี 2568 ผ่านการดำเนินแผน Digital Nation and Innovative Economic Development Program หรือ DIGI+ ระหว่างปี 2560-2568 โดยมุ่งใช้ข้อมูลเปิด (Open Data) เป็นตัวขับเคลื่อนในการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล รวมถึงการบริหารภาครัฐอัจฉริยะ (Smart Governance)

อนึ่ง ขีดความสามารถด้านดิจิทัลของไต้หวันถือว่าอยู่ในระดับสูง ตามผลการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลของ 64 ประเทศและเขตเศรษฐกิจทั่วโลก ประจำปี 2566 โดย IMD พบว่าไต้หวันอยู่อันดับ 9 ขยับขึ้น 2 อันดับจากปีก่อนหน้า และเป็นอันดับ 3 ของเอเชียรองจากสิงคโปร์และเกาหลีใต้ ตัวชี้วัดสำคัญในการจัดอันดับ ได้แก่ ด้านเทคโนโลยี (ไต้หวันเป็นอันดับ 3) ด้านความรู้ (ไต้หวันเป็นอันดับ 18) และด้าน ความพร้อมสำหรับอนาคต (ไต้หวันเป็นอันดับ 7) นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยย่อย 5 ประการ ที่ไต้หวันครองอันดับ 1 ของโลก ได้แก่ 1) บุคลากรด้านวิจัยและพัฒนาทั้งหมดต่อคน 2) หุ้นที่มีมูลค่าตามราคาตลาดทางสื่อและเทคโนโลยีสารสนเทศ 3) ผู้บอกรับเป็นสมาชิกบรอดแบนด์อินเตอร์เน็ตเคลื่อนที่ 4) ความยืดหยุ่นในการปรับตัวของบริษัท และ 5) การใช้ big data และ analytics ทั้งนี้ กระทรวงดิจิทัลไต้หวันจะใช้ผลการประเมินของ IMD เป็นข้อมูลอ้างอิงในการกำหนดนโยบายของรัฐบาลเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล ส่งเสริมความปลอดภัยของข้อมูล และขยายความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนเพื่อให้บรรลุการเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัล

3.4 การส่งเสริมการท่องเที่ยว

กระทรวงคมนาคมไต้หวัน คาดว่า ในปี 2567 จำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาไต้หวันจะมากกว่าช่วงก่อนเกิดการระบาดของโควิด 19 โดยตั้งเป้าหมายไว้ที่ 12 ล้านคน โดยมีแผนฟื้นฟูการท่องเที่ยวระหว่างช่องแคบไต้หวันด้วยการยกเลิกข้อบังคับไม่ให้นักท่องเที่ยวไต้หวันเดินทางไปจีนแบบกลุ่มทัวร์ ควบคู่ไปกับการเปิดพรมแดนรับกลุ่มทัวร์จากจีนอีกครั้ง เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวของไต้หวันซึ่งได้รับผลกระทบ โดยจะประกาศนโยบายดังกล่าวอย่างเป็นทางการก่อนช่วงเทศกาลตรุษจีน และมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. 2567 อนึ่ง ในช่วงก่อนเกิดการระบาดนักท่องเที่ยวจากจีนถือเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาเยือนไต้หวันมากเป็นอันดับหนึ่ง[1]

  1. ข้อมูลและข้อสังเกตเพิ่มเติม

ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับจีนในปี 2567 ยังคงมีความตึงเครียด ล่าสุด เมื่อวันที่ 21 ธ.ค. 2566 จีนประกาศระงับการลดหย่อนภาษีนำเข้าผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีของไต้หวัน 12 รายการ ซึ่งอยู่ภายใต้กรอบ ความตกลงความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างจีนและไต้หวัน (Economic Cooperation Framework Agreement: ECFA) โดยเริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2567 โดยจีนอ้างว่า การดำเนินการดังกล่าวเป็นมาตรการตอบโต้ไต้หวันที่ละเมิดเงื่อนไขของ ECFA ผ่านการเลือกปฏิบัติทางการค้าต่อสินค้านำเข้าจากจีน ขณะที่ไต้หวันประณามการกระทำของจีนว่า เป็นการนำประเด็นทางการค้ามาเป็นเครื่องมือทางการเมือง (Politicizing Trade)

[1] ในปี 2565 มีนักท่องเที่ยวจากจีน (ไม่รวมฮ่องกงและมาเก๊า) เดินทางมาไต้หวัน 2.44 หมื่นคน ลดลงร้อยละ 99.1 เมื่อเทียบกับปี 2562 ซึ่งมีจำนวน 2.71 ล้านคน

ADVERTISEMENTLittle Thai Alley