สถานการณ์เศรษฐกิจในไต้หวัน มกราคม - มิถุนายน 2567

สถานการณ์เศรษฐกิจในไต้หวัน มกราคม - มิถุนายน 2567

วันที่นำเข้าข้อมูล 5 ส.ค. 2567

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 14 ส.ค. 2567

| 2,327 view

econupdatelogo

  1. ภาพรวมเศรษฐกิจไต้หวัน

1.1 อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ

เมื่อวันที่ 30 พ.ค. 2567 สำนักสถิติและบัญชีกลางไต้หวันประกาศปรับเพิ่มตัวเลขคาดการณ์ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของไต้หวันในปี 2567 เป็นร้อยละ 3.94 เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.51 จากที่คาดการณ์เมื่อเดือน ก.พ. 2567 โดยมีปัจจัยหลัก คือ การขยายตัวของสินค้าเทคโนโลยีและความต้องการ AI และ High Performance Computing (HPC) ของตลาดโลก รวมทั้งการบริโภคภายในที่ยังแข็งแกร่ง

1.2 มูลค่าการค้า

กระทรวงการคลังไต้หวันรายงานว่า การส่งออกของไต้หวันระหว่างเดือน ม.ค. - มิ.ย. 2567 มีมูลค่ารวม 225,033 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่ารวม 188,910 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.8 ทำให้ไต้หวันได้เปรียบดุลการค้ารวมมูลค่า 36,122 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 36.12 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566

1.3 สถานการณ์เงินเฟ้อ

กระทรวงเศรษฐกิจไต้หวันรายงานว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 อยู่ที่ 107.71 สูงขึ้นกว่าปีก่อนหน้าร้อยละ 2.27 และสูงกว่าอัตราที่ธนาคารกลางกำหนดไว้ (ร้อยละ 2) จากการปรับขึ้นของอัตราค่าไฟฟ้า รวมทั้งราคาผักผลไม้ในท้องตลาดที่สูงขึ้นจากสภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวย นอกจากนั้น เมื่อวันที่ 22 มี.ค. 2567 กระทรวงเศรษฐกิจไต้หวันได้ประกาศปรับขึ้นอัตราค่าไฟฟ้าร้อยละ 11 ซึ่งคาดว่าจะทำให้ CPI เพิ่มขึ้นอีกราวร้อยละ 0.18  

1.4 การลงทุน

จากสถิติของกระทรวงเศรษฐกิจไต้หวัน การลงทุนของไต้หวันในต่างประเทศ (ยกเว้นจีน)[1] ระหว่างเดือน ม.ค. - มิ.ย. 2567 มีมูลค่ารวม 24,185 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 169.6 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยไต้หวันลงทุนมากที่สุดในสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และแคนาดา ขณะที่การลงทุนในประเทศกลุ่มเป้าหมายของ New Southbound Policy (NSP) มุ่งเน้นไปที่สิงคโปร์ เวียดนาม และไทย อนึ่ง การลงทุนจากต่างประเทศ มายังไต้หวันมีมูลค่ารวม 3,252 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเป็นการลงทุนจากสหราชอาณาจักร สหรัฐฯ และญี่ปุ่น

1.5 สถานการณ์การจ้างงาน

อัตราการว่างงานเฉลี่ยระหว่างเดือน ม.ค. - พ.ค. 2567 คิดเป็นร้อยละ 3.36 ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า ร้อยละ 0.15 โดยมีผู้ว่างงานทั้งสิ้น 4 แสนคน ขณะที่มีการจ้างงานทั้งสิ้น 11.58 ล้านตำแหน่ง ทั้งนี้ อัตราการว่างงานของไต้หวันลดลงติดต่อกัน 3 เดือน ตั้งแต่เดือน พ.ค. 2567 และลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 24 ปี เนื่องจากได้รับแรงหนุนจากเศรษฐกิจไต้หวันที่ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี การจ้างงานในภาคเกษตรกรรมและภาคบริการลดลงสวนทางกับภาคอุตสาหกรรมที่มีความต้องการจ้างงานเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

    1. การดำเนินนโยบายสำคัญของรัฐบาล

2.1 ในพิธีสาบานตนของประธาณาธิบดี ไล่ ชิงเต๋อ (ประธานาธิบดีคนใหม่ของไต้หวัน) เมื่อวันที่ 20 พ.ค. 2567 ประธานาธิบดีไล่ฯ ประกาศจุดยืนที่จะรักษาบทบาทของไต้หวันต่อโลกในฐานะ “Silicon Island” และการพัฒนาอุตสาหกรรม AI เพื่อนำไต้หวันไปสู่การเป็น “AI Island” ของโลกในอนาคต ทั้งนี้ นอกจากเซมิคอนดักเตอร์และ AI แล้ว รัฐบาลไต้หวันยังให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ เทคโนโลยีด้านความมั่นคงและการลาดตระเวน รวมทั้งเทคโนโลยีด้านการสื่อสารและโทรคมนาคม (6G และดาวเทียมสื่อสาร) กอปรกับเมื่อเดือน มิ.ย. 2567 ยังประกาศให้ตั้ง คณะกรรมการพิเศษ 3 ด้าน ได้แก่ (1) Climate Change (2) การส่งเสริมความแข็งแกร่งทางสังคม และ (3) การส่งเสริมสุขภาพ ซึ่งเป็นโจทย์หลักในการวางยุทธศาสตร์ของไต้หวันท่ามกลางบริบทความท้าทายใหม่ โดยในปี 2567 รัฐบาลไต้หวันอนุมัติงบประมาณมากถึง 1.6 แสนล้านดอลลาร์ไต้หวัน (ราว 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในการพัฒนาด้านเทคโนโลยี TFT-LCD

2.2 ในการส่งเสริมสภาพแวดล้อมด้านการลงทุน นายกรัฐมนตรีไต้หวัน (นายจั๋ว หยงไท่) ในฐานะประธาน คณะกรรมการด้านการพัฒนาเศรษฐกิจไต้หวัน ได้ประกาศนโยบายด้านการลงทุนเพื่อดึงดูดการลงทุนในสาขาอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพ อาทิ การจัดตั้งศูนย์บริหารจัดการกองทุนที่สอดรับกับบริบทใหม่ อาทิ green banking รวมถึงการลงทุนในด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์อย่างจริงจัง โดยมีแผนที่จะพัฒนาผู้เชี่ยวชาญด้าน AI ในไต้หวันให้ได้ 2 แสนคน รวมทั้งเปิดรับผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศอีก 1.2 แสนคน ภายในปี ค.ศ. 2028 โดยในการพัฒนาบุคลากร รัฐบาลไต้หวันมีแผนจะร่วมมือกับบริษัทด้านเทคโนโลยีระดับโลก เช่น NVIDIA และ AMD ซึ่งมีแผนจะเข้ามาตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาในภูมิภาคต่างๆ ของไต้หวัน

2.3 ในการส่งเสริมการเข้ามาทำงานในไต้หวันของผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจดิจิทัล คณะกรรมการกิจการพัฒนาแห่งชาติไต้หวัน (NDC) ประกาศนโยบายที่จะออกวีซ่า “digital nomad” สำหรับผู้เชี่ยวชาญด้านดิจิทัลเพื่อพำนักในไต้หวันเป็นระยะเวลา 6 เดือน เช่นเดียวกับที่มีการดำเนินการในประเทศอื่นๆ อาทิ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และไทย ควบคู่ไปกับการปรับปรุงกฎหมายการจ้างงานคนต่างด้าวเพื่อให้วีซ่าผู้พำนักถาวรเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 1 ปีแก่ผู้เชี่ยวชาญต่างชาติที่มีรายได้เกิน 6 ล้านดอลลาร์ไต้หวัน/ปี (1.8 แสนดอลลาร์สหรัฐ/ปี) ด้วย

  1. ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจไต้หวัน - ไทย

3.1 ด้านการค้า

กระทรวงเศรษฐกิจไต้หวัน ระบุว่า ไทยเป็นคู่ค้าอันดับที่ 12 ของไต้หวัน โดยการค้าไทย - ไต้หวัน ระหว่างเดือน ม.ค. - มิ.ย. 2567 มีมูลค่ารวม 9,382.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นการส่งออกจากไต้หวันมาไทย 6,199.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมีสินค้าส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ (1) เครื่องจักรและอุปกรณ์ไฟฟ้า (4,687 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) (2) แร่โลหะ (509.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) (3) เคมีภัณฑ์ (257.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ขณะที่การนำเข้าจากไทยไปไต้หวันมีมูลค่ารวม 3,183.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมีสินค้านำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ (1) เครื่องจักรและอุปกรณ์ไฟฟ้า (1,852.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) (2) อาหารปรุงสำเร็จ เครื่องดื่ม สุรา น้ำส้มสายชู และยาสูบ (212.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) (3) เคมีภัณฑ์ (185 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)

3.2 ด้านการลงทุน

กระทรวงเศรษฐกิจไต้หวัน ระบุว่า ในช่วงเดือน ม.ค. - มิ.ย. 2567 มีโครงการลงทุนจากไต้หวันในไทย 30 โครงการ คิดเป็นมูลค่าการลงทุน 314.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (เพิ่มขึ้นร้อยละ 246.1 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า) อุตสาหกรรมที่มีมูลค่าการลงทุนสูงสุด ได้แก่ (1) การผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ (99 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) (2) การค้าส่งและค้าปลีก (73 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) (3) การเงินและการประกันภัย (55.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ขณะที่มีโครงการลงทุนจากไทยมายังไต้หวัน 11 โครงการ คิดเป็นมูลค่าเงินลงทุน 5.70 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ลดลงร้อยละ 92.6) อุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเงินลงทุนสูงสุด ได้แก่ (1) ด้านบริการทางวิชาชีพ วิทยาศาสตร์ และทางเทคนิค (5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) (2) การเงินและการประกันภัย (3.8 แสนดอลลาร์สหรัฐ) และ (3) การค้าส่งและค้าปลีก (1.4 แสนดอลลาร์สหรัฐ)

3.3 ด้านแรงงาน

สถิติกระทรวงแรงงานไต้หวัน ณ เดือน พ.ค. 2567 ระบุว่า มีจำนวนแรงงานไทยในไต้หวันทั้งสิ้น 69,893 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.07 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า คิดเป็นร้อยละ 9 ของแรงงานต่างชาติทั้งหมดในไต้หวัน

3.4 ด้านการท่องเที่ยว

จากสถิติของกรมการท่องเที่ยวไต้หวันพบว่า ระหว่างเดือน ม.ค. - เม.ย. 2567 มีนักท่องเที่ยวไต้หวันเดินทางมาไทย 365,989 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 74 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า (210,283 คน) ขณะที่มีนักท่องเที่ยวจากไทยมาไต้หวัน 153,638 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 17 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า (130,397 คน)

  1. โอกาสของไทยในไต้หวัน

4.1เซมิคอนดักเตอร์

ไต้หวันเป็น “สมรภูมิยุทธศาสตร์” การแข่งขันระหว่างจีนกับสหรัฐฯ โดยเฉพาะในด้านเศรษฐกิจ ไทยจึงควรใช้โอกาสที่นักลงทุนไต้หวันถูกกดดันให้ขยายการลงทุนออกจากจีนในการดึงการลงทุนด้านเทคโนโลยีมาไทย ทั้งนี้ ในระยะ 2 ปีที่ผ่านมา บริษัท PCB ของไต้หวันกำลังขยายฐานการผลิตจากจีนออกมายังไทยทั้งห่วงโซ่อุปทาน โดย PCB เป็นผลิตภัณฑ์ที่เกื้อกูลการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ เนื่องจากใช้ supply chain ที่คล้ายคลึงกัน เช่น สารเคมีบางตัว และเครื่องจักร การนำ supply chain ของ PCB ไปลงทุนในไทยได้ จึงถือเป็นก้าวแรกของการเริ่มต้นที่ดีสำหรับไทย

แม้ว่าการพิจารณาลงทุนตั้งโรงงานผลิตเซมิคอนดักเตอร์ในต่างประเทศของบริษัทขนาดใหญ่ในไต้หวันจะคำนึงถึง 2 ปัจจัยสำคัญเป็นหลัก ได้แก่ (1) ปัจจัยเชิงภูมิรัฐศาสตร์ ทำให้นักลงทุนในประเทศที่เป็น Tech Alliance และ (2) งบประมาณสนับสนุน จากรัฐบาลผู้รับ แต่ไทยไม่ควรมองข้ามการจับฉวยโอกาสการลงทุนด้านเซมิคอนดักเตอร์จากไต้หวันในไทย โดยมุ่งเน้นบริษัท SMEs ในห่วงโซ่อุปทานของเซมิคอนดักเตอร์ และบริษัทที่ต้องการย้ายฐานการผลิตออกจากจีน โดยต้องเริ่มจากการสร้าง success story ให้เกิดขึ้น ควบคู่กับการเร่งพัฒนาบุคลากรผ่านการส่งเสริมความร่วมมือกับไต้หวันในระดับต่างๆ เพื่อพัฒนา ecosystem ของไทยให้เข้มแข็ง 

4.2 แรงงาน

ไต้หวันเป็นตลาดแรงงานถูกกฎหมายที่สำคัญที่สุดของไทย มีแรงงานไทยในไต้หวันไม่ต่ำกว่า 7 หมื่นคน และมีแนวโน้มที่แรงงานไทยจะมาไต้หวันอย่างต่อเนื่องในสาขาก่อสร้างและภาคการผลิต โดยควรมีการหารือกับบริษัทไต้หวันที่ลงทุนในไทยให้มีการจ้างงานแรงงานไทยที่มีประสบการณ์เหล่านี้ให้ทำงานต่อในบริษัทที่ไทยได้ ตลอดจนความพยายามในการผลักดันให้ไต้หวันเปิดเสรีด้านแรงงานในภาคบริการให้กับไทย ซึ่งนอกจากจะเป็นประโยชน์ต่อแรงงานไทยในการเข้าไปทำงานในภาคบริการที่ไต้หวันแล้ว ยังเป็นการช่วยส่งเสริมความแข็งแกร่งให้กับอุตสาหกรรมการบริการของไต้หวัน โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยว ซึ่งปัจจุบันไม่มีศักยภาพในการแข่งขันมากพอเนื่องจากเสียเปรียบจากการขาดแคลนด้านบุคลากร ทั้งนี้ สำนักงานการค้าฯ กำลังผลักดันการเปิดตลาดแรงงานในภาคบริการให้แก่แรงงานไทยที่ไต้หวัน

4.3 การท่องเที่ยว

คนไต้หวันมีทัศนคติที่ดีต่อไทยและนิยมเดินทางมาท่องเที่ยวประเทศไทย ถึงแม้ว่าที่ผ่านมาจะต้องมีการขอวีซ่าเดินทางเข้าประเทศไทยมาโดยตลอด ดังนั้น จำนวนคนไต้หวันที่ไปไทยจึงเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญหลังการเปิดวีซ่าฟรีเมื่อวันที่ 10 พ.ย. 2566 และเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตามนัยข้อ 3.4 โดยเฉพาะจากปัจจัยบวกเมื่อ ประเทศไทยได้ประกาศให้นักท่องเที่ยวไต้หวันอยู่ในกลุ่มที่ได้รับการยกเว้นการตรวจลงตรา ผ. 60 ด้วยแล้ว  จากสถิติของรัฐบาลไทยพบว่า นักท่องเที่ยวไต้หวันที่เดินทางมาไทยระหว่างเดือน ม.ค. - ก.ค. 2567 มีจำนวนมากถึง 610,270 คน และอาจมากถึง 1 ล้านคนในปี 2567 กอปรกับพิจารณาว่า นักท่องเที่ยวไต้หวันเป็นนักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพและมีการใช้จ่ายในประเทศไทยสูงถึงประมาณ 5,200บาท/วัน/คน  

4.4 การศึกษาและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

รัฐบาลไต้หวันต้องการส่งเสริมให้นักศึกษาจากต่างชาติ โดยเฉพาะในอาเซียนเข้ามาศึกษาต่อและทำงานในไต้หวันมากขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานในไต้หวัน โดยมีการให้ทุนการศึกษาประมาณ 1 หมื่นทุนต่อปี และตั้งเป้าให้นักศึกษาต่างชาติมาเรียนที่ไต้หวันให้ได้ 320,000 คนภายในปี 2573 นอกจากนั้น รัฐบาลไต้หวันยังรวมไทยเป็นหนึ่งในกลุ่มประเทศเป้าหมายในการให้ทุนการศึกษา “International Industrial Talents Education Special Program (INTENSE Program)” เช่นเดียวกับเวียดนาม อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ไทยจึงควรใช้โอกาสนี้ส่งเสริมและเชื่อมโยงให้นักศึกษาไทยได้เข้าถึงข้อมูลและใช้ประโยชน์จากโอกาสด้านการศึกษาในไต้หวันมากขึ้น ซึ่งจะช่วยต่อยอดการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ที่ประเทศไทย และจำเป็นต้องมีปัจจัยบุคลากรที่พร้อมด้วย

[1] การลงทุนจากไต้หวันไปยังจีน ระหว่างเดือน ม.ค. - มิ.ย. 2567 มีมูลค่ารวม 1,546.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ADVERTISEMENTLittle Thai Alley