กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF ได้คาดการณ์ว่า GDP ของไต้หวันในปี 2021 นี้จะขยายตัวในอัตรา 4.7% โดยเพิ่มขึ้นจากที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ 1.5% ซึ่งสาเหตุหลักที่ส่งผลบวกต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของไต้หวัน มาจาก (1) ความต้องการของตลาดเซมิคอนดักเตอร์ที่เพิ่มสูงขึ้นในระดับโลก (2) ความสำเร็จในการควบคุมสถานการณ์การแพร่โรคระบาดของโรคโควิด-19 ที่มีประสิทธิภาพ
จากรายงานภาพรวมเศรษฐกิจโลกของ IMF ในปี 2021 นี้ นาง Gita Gopinath Chief Economist ของ IMF ได้ประเมินว่า ทิศทางของเศรษฐกิจโลกในภาพรวมมีทิศทางไปในทางที่ดีขึ้น แม้มีสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 โดยเศรษฐกิจโลกจะขยายตัวเพิ่มขึ้น 6% ในปี 2021 (เพิ่มจากที่คาดการณ์ไว้ 0.5%) และ 5 % ในปี 2022 (เพิ่มจากที่คาดการณ์ไว้ 2%)
ในส่วนของไต้หวัน การคาดการณ์ IMF ใกล้เคียงกับการคาดการณ์ของสำนักงานสถิติแห่งชาติของไต้หวัน (DBGAS) ที่ได้คาดการณ์ว่า GDP ของไต้หวันจะโตในอัตรา 4.64%
ธนาคาร DPS ประเมินว่าการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่รวดเร็วเกินไปจะนำมาซึ่งสภาวะเงินเฟ้อ อย่างไรก็ดี สภาวะเงินเฟ้อท่ามกลางสภาพเศรษฐกิจของไต้หวันจะอยู่ในระดับที่รับได้ เนื่องจากอัตราการว่างงานในไต้หวันอยู่ในระดับต่ำเพียง 3.8% โดยอัตราการจ้างงานมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลา 8 เดือนที่ผ่านมา โดยเฉพาะอัตราการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมโรงงานและอุตสาหกรรมการบริการของไต้หวันที่เพิ่มขึ้นกว่า 15,000 อัตราในเดือนมีนาคม 2564
ดังนั้น ทิศทางเศรษฐกิจโลกในปี 2021 และปี 2022 น่าจะเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น โดยขึ้นอยู่กับมาตรการการรับมือสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด 19 และแผนการจัดสรรวัคซีนของแต่ละประเทศ ที่จะทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจสามารถกลับมาดำเนินการได้เช่นเดิม