สถานการณ์เศรษฐกิจในไต้หวัน ช่วงปลายปี 2565

สถานการณ์เศรษฐกิจในไต้หวัน ช่วงปลายปี 2565

วันที่นำเข้าข้อมูล 3 ม.ค. 2566

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 12 ธ.ค. 2566

| 1,531 view
econupdatelogo
  1. ภาพรวมเศรษฐกิจไต้หวัน

เมื่อวันที่ 27 ธ.ค. 2565 คณะกรรมการเพื่อการพัฒนาแห่งชาติไต้หวัน (NDC) รายงานว่า ตัวบ่งชี้ทางเศรษฐกิจในเดือน พ.ย. 2565 ส่งสัญญาณว่าไต้หวันอยู่ในภาวะเศรษฐกิจหดตัวเป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 4 ปี เนื่องจากการค้าต่างประเทศที่ชะลอตัวลงส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไต้หวัน ทว่าภาคการค้าปลีกและการจัดเลี้ยงในไต้หวันกำลังดำเนินไปด้วยดี ผนวกกับการเปิดพรมแดนของไต้หวันที่คาดว่าจะช่วยกระตุ้นการบริโภค นอกจากนี้ อุปสงค์ภายในจะได้รับแรงหนุนจากโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาลในปี 2566 ซึ่งมีมูลค่าราว 6 แสนล้านดอลลาร์ไต้หวัน รวมถึงการลงทุนในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ และฟาร์มกังหันลมนอกชายฝั่งอย่างต่อเนื่อง

เมื่อวันที่ 6 ธ.ค. 2565 สำนักงบประมาณฯ ไต้หวัน ประกาศว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ในเดือน พ.ย. 2565 ปรับตัวขึ้นร้อยละ 2.35 เป็นการเพิ่มขึ้นระดับต่ำสุดในรอบ 9 เดือน โดยมีสาเหตุหลักจากราคาอาหารบริโภคนอกบ้าน ผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ ไข่ ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ ของใช้ในครัวเรือน และการใช้จ่ายเพื่อความบันเทิงที่เพิ่มสูงขึ้น กอปรกับการปรับตัวลดลงของราคาผัก ผลไม้ เชื้อเพลิง และการสื่อสารโทรคมนาคมช่วยลดทอนการเพิ่มขึ้นของดัชนีราคาผู้บริโภคได้ส่วนหนึ่ง

  1. ภาคการส่งออกไต้หวัน

2.1 เมื่อวันที่ 7 ธ.ค. 2565 กระทรวงการคลังไต้หวัน รายงานว่า ปริมาณการส่งออกของเดือน พ.ย. 2565 มีมูลค่ารวม 36,133 ล้าน USD เป็นการลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 และลดลงต่ำสุดในรอบ 7 ปี โดยลดลงร้อยละ 13.1 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2564 ในขณะที่การส่งออกชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ มีมูลค่ารวม 15,150 ล้าน USD ลดลงร้อยละ 4.9 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2564 ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่ทำสถิติเพิ่มขึ้นเป็นระยะเวลา 42 เดือนติดต่อกันสิ้นสุดลง เนื่องจากตลาดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เพื่อผู้บริโภค (consumer electronics) ทั่วโลกชะลอตัวลง รวมถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในจีนที่รุนแรงขึ้นได้ส่งผลกระทบต่อกำลังการผลิตสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ของแบรนด์ต่างประเทศ

2.2 คู่ค้าที่ไต้หวันมีมูลค่าการส่งออกสูงที่สุด ได้แก่ จีนและฮ่องกง โดยในเดือน พ.ย. 2565 มูลค่าการส่งออกรวมไปยังจีนและฮ่องกง คิดเป็นมูลค่า 13,561 ล้าน USD ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 37.5 ของมูลค่าการส่งออกรวมของไต้หวัน

2.3 มูลค่าการส่งออกรวมไปยังกลุ่มประเทศอาเซียน คิดเป็นมูลค่า 6,045 ล้าน USD มูลค่าการส่งออกรวมไปยังสรอ. คิดเป็นมูลค่า 5,883 ล้าน USD มูลค่าการส่งออกรวมไปยังยุโรป คิดเป็นมูลค่า 2,990 ล้าน USD และมูลค่าการส่งออกรวมไปยังญี่ปุ่น คิดเป็นมูลค่า 2,957 ล้าน USD

2.4 ในช่วงเดือน ม.ค.–พ.ย. 2565 ไต้หวันมีมูลค่าการส่งออกรวมทั้งหมด 443,783 ล้าน USD เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.4 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2564 แม้ว่ามูลค่าการส่งออกรวมของไต้หวันตลอดทั้งปี 2565 จะทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ตามที่คาดการณ์ แต่มูลค่าการส่งออกในเดือน ธ.ค. 2565 จะยังคงมีแนวโน้มลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 โดยกระทรวงการคลังไต้หวัน คาดว่า อาจมีมูลค่าทางเศรษฐกิจระหว่าง 35,800-37,400 ล้าน USD หรือขยายตัวลดลงร้อยละ 8-12 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2564 ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่ยังคงชะลอตัวลง

  1. สถานการณ์การจ้างงานในไต้หวันเดือน พ.ย. 2565

เมื่อวันที่ 22 ธ.ค. 2565 สำนักงบประมาณฯ ไต้หวัน รายงานว่า อัตราการว่างงานในเดือน พ.ย. 2565 มีทั้งสิ้น 428,000 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 3.61 ซึ่งลดลงจากเดือน ต.ค. 2565 ร้อยละ 0.03 จุด เป็นการลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 และลดลงต่ำสุดในรอบ 10 เดือน เนื่องจากบัณฑิตจบใหม่ที่ได้งานแล้วมีจำนวนเพิ่มขึ้น ในขณะที่มีการจ้างงานทั้งสิ้น 11,430,000 ตำแหน่ง ซึ่งเพิ่มขึ้นจากเดือน ต.ค. 2565 ร้อยละ 0.17 โดยผู้ได้งานใหม่ส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมการบริการ

  1. สถานการณ์เศรษฐกิจไต้หวัน-ไทย

4.1 ด้านการค้า ข้อมูลจากกรมการค้าต่างประเทศไต้หวัน ระบุว่า ในเดือน พ.ย. 2565 การค้าระหว่างไต้หวันและไทยมีมูลค่ารวม 1,141.59 ล้าน USD แบ่งเป็นมูลค่าการส่งออกรวมจากไต้หวันไปยังไทย 690.82 ล้าน USD และมูลค่าการนำเข้ารวมจากไทยมายังไต้หวัน 450.77 ล้าน USD และในช่วงเดือน ม.ค.-พ.ย. 2565 ไต้หวันและไทยมีมูลค่าการค้ารวม 12,849.74 ล้าน USD เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2564 คิดเป็นร้อยละ 8.83 โดยไทยเป็นคู่ค้าลำดับที่ 13 ของไต้หวัน

4.2 ด้านแรงงาน ข้อมูลจากกระทรวงแรงงานไต้หวัน ระบุว่า ในเดือน พ.ย. 2565 มีจำนวนแรงงานไทยในไต้หวันทั้งสิ้น 66,967 คน คิดเป็นร้อยละ 9.23 ของแรงงานต่างชาติทั้งหมดในไต้หวัน จำนวนแรงงานไทยเพิ่มขึ้นจากเดือน ต.ค. 2565 คิดเป็นร้อยละ 0.97 และเพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2564 ร้อยละ 17.11

4.3 ด้านการท่องเที่ยว ข้อมูลจากกรมการท่องเที่ยวไต้หวัน ระบุว่า ในเดือน พ.ย. 2565 มีนักท่องเที่ยวไต้หวันเดินทางไปไทย จำนวน 22,865 คน เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2564 เป็นจำนวน 27.38 เท่า (ปีก่อนหน้ามีจำนวน 835 คน) ในขณะที่มีนักท่องเที่ยวจากไทยมาไต้หวัน จำนวน 14,360 คน เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2564 เป็นจำนวน 28.78 เท่า (ปีก่อนหน้ามีจำนวน 499 คน)

4.4 ด้านการลงทุน สมาคมแผ่นวงจรพิมพ์ไต้หวัน (TPCA) พร้อมด้วยสมาคมผู้ผลิตเครื่องจักรกลไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ไต้หวัน (TEEMA) นำคณะผู้ประกอบธุรกิจแผ่นวงจรพิมพ์สำรวจลู่ทางด้านการลงทุนในไทย ระหว่างวันที่ 14-18 พ.ย. 2565 โดยเดินทางไปเยี่ยมชมนิคมอุตสาหกรรม 7 แห่ง ได้แก่ นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ นิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ นิคมอุตสาหกรรมยามาโตะ นิคมอุตสาหกรรมเอเซีย (สุวรรณภูมิ) นิคมอุตสาหกรรมปิ่นทอง สวนอุตสาหกรรมโรจนะ และสวนอุตสาหกรรม 304 รวมถึงเข้าพบศูนย์ประสานการบริการด้านการลงทุน (OSOS) สมาคมการค้าไทย-ไต้หวัน และ บ. เอพีซีบี อิเลคทรอนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด ทั้งนี้ คณะผู้ประกอบธุรกิจแผ่นวงจรพิมพ์ให้ความสนใจประเด็นปริมาณการใช้น้ำ ประกันภัยกรณีน้ำท่วม และสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่เสนอโดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เป็นหลัก

  1. ไต้หวันอนุมัติแผนส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันของ SMEs

เมื่อวันที่ 3 พ.ย. 2565 สภาบริหารไต้หวันมีมติอนุมัติโครงการส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ของไต้หวัน มูลค่า 9.5 หมื่นล้านดอลลาร์ไต้หวัน ระยะเวลาดำเนินโครงการระหว่างปี 2565-2569 โดยมุ่งเน้นการส่งเสริมใน 4 ด้านหลัก ได้แก่ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ การเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล นวัตกรรมที่มีการสร้างมูลค่าเพิ่ม และความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน (co-prosperity) เพื่อตอบสนองต่อโอกาสและความท้าทายที่เกิดขึ้นในยุคหลังโควิด-19 คาดว่าโครงการดังกล่าวจะส่งผลให้เกิดการประหยัดพลังงานไฟฟ้า 175 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง (kWh) ตลอดระยะเวลา 5 ปี และจะสามารถพัฒนาระบบคลาวด์ซึ่งให้บริการธุรกิจได้ถึง 210,000 บริษัท ตลอดจนมีเป้าหมายเพื่อสร้างธุรกิจระดับโลก 200 แห่ง ในหลากหลายอุตสาหกรรม