วันที่นำเข้าข้อมูล 30 ส.ค. 2562
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 27 พ.ย. 2565
งานประชุมทางวิชาการ “Conference on Medical Information Sharing for Enhancing Medical and Disease Management” จัดโดยความร่วมมือระหว่างสำนักงานประกันสุขภาพ (National Health Insurance Administration) กระทรวงสาธารณสุขและสวัสดิการไต้หวัน ระหว่างวันที่ 8 - 9 ส.ค. 2562 ณ Howard Civil Service International House ไทเป ไต้หวัน เพื่อแบ่งปันข้อมูลและประสบการณ์เกี่ยวกับการดำเนินนโยบายทางด้านสาธารณะสุขและข้อมูลการแบ่งปันข้อมูลทางการแพทย์
ภายในงานมีผู้เข้าร่วมการประชุมมากกว่า 300 คน ทั้งจากหน่วยงานการศึกษา ภาคธุรกิจ ผู้เชี่ยวชาญ เจ้าหน้าที่จากหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งในไต้หวันและต่างประเทศ และสมาชิกเอเปค อาทิ ออสเตรเลีย แคนาดา อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เปรู รัสเซีย สิงคโปร์ เกาหลีใต้ และสหรัฐอเมริกา
การประชุมครั้งนี้นับเป็นโอกาสที่ดีของไต้หวันในการนำเสนอเทคโนโลยีทางการแพทย์ขั้นสูงและความสำเร็จที่เกิดขึ้น อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมภาคส่วนที่เกี่ยวข้องสู่เวทีระดับโลก
เมื่อครั้งไต้หวันนำเสนอข้อมูลในงานการประชุมสมัชชาอนามัยโลก (World Health Assembly) ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 20 - 28 พ.ค. 2562 ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส หลายประเทศต่างให้ความสนใจกับความสำเร็จของไต้หวันด้านการใช้ระบบคลาวด์แบ่งปันข้อมูลทางการแพทย์ (cloud-based medical information sharing)
การประชุมได้หารือในหัวข้อสำคัญหลายประการ อาทิ พลังของการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางการแพทย์เพื่อการปรับปรุงด้านสาธารณะสุข แนวปฏิบัติสำหรับการเก็บและใช้ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง การใช้เทคโนโลยีการสื่อสารในการเสริมสร้างบริการและมาตรฐานการรักษาในสถานพยาบาล นอกจากนี้ยังมีการหารือในประเด็นด้านความสมดุลระหว่างความเป็นส่วนตัวกับการใช้ข้อมูลเพื่อสาธารณะในทางการแพทย์ โดยผู้ร่วมอภิปรายต่างเห็นพ้องกันว่า หากเป็นการนำข้อมูลเพื่อนำไปใช้ศึกษาวิจัยทางการแพทย์อันเป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะแล้ว ย่อมมีความสำคัญมากกว่าความเป็นส่วนตัว ส่วนการนำข้อมูลไปใช้เพื่อการค้านั้นไม่อาจทำได้และมีความผิด
หลายประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคกำลังเผชิญกับภาวะสังคมผู้สูงอายุ จำนวนผู้ป่วยเรื้อรังที่เพิ่มมากขึ้นทำให้ระบบการรักษาพยาบาลต้องประสบปัญหาค่าใช้จ่ายที่เพิ่มสูงขึ้นและข้อมูลซ้ำซ้อนอันเกิดจากการไม่เชื่อมโยงข้อมูลทางด้านสุขภาพระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ เข้าด้วยกัน ดังนั้นการสร้างพื้นที่สำหรับแบ่งปันข้อมูลและประวัติการรักษาระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงเป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง การแบ่งปันข้อมูลระหว่างกันจะช่วยลดการตรวจรักษาและการจ่ายยาซ้ำซ้อน ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายได้อย่างมาก ทั้งนี้ ไต้หวันลดประหยัดค่าใช้จ่ายจากการจ่ายยาซ้ำซ้อนและเกินความจำเป็นได้ประมาณ 11.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ข้อมูลเดือน มิ.ย. 2562) นับแต่เริ่มใช้ระบบ PharmaCloud ซึ่งเป็นระบบจัดการบันทึกทางการแพทย์ที่ไต้หวันพัฒนาขึ้นในปี 2556
ในส่วนของการนำเสนอข้อมูลของประเทศไทย ดร.ประจักษวิช เล็บนาค รองเลขาธิการ สำนักงาน หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข ประเทศไทย เป็นผู้นำเสนอข้อมูลในหัวข้อ The Current Developments of Medical (health) Information System in Thailand โดยขณะนี้ไทยกำลังดำเนินการเพื่อให้หลักประกันสุขภาพเกิดประสิทธิผลมากขึ้น (Expanding Utilization) และจะให้ความสำคัญกับการจัดการข้อมูลขนาดใหญ่และระบบคลาวด์ (Big data & Cloud)
ข้อมูลจาก
www.nhi.gov.tw/english/Content_List.aspx…
https://nspp.mofa.gov.tw/nsppe/news.php…