ทิศทางด้านสุขภาพในไต้หวัน

ทิศทางด้านสุขภาพในไต้หวัน

วันที่นำเข้าข้อมูล 14 ก.ย. 2565

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 14 ก.ย. 2565

| 2,787 view

เทคโนโลยีทางการแพทย์

          ไต้หวันเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ (aged society) อย่างเป็นทางการเมื่อปี 2561 ตามประกาศของกระทรวงมหาดไทยไต้หวันเมื่อเดือน เม.ย. 2561 โดยระบุว่า จำนวนประชากรไต้หวันที่มีอายุสูงกว่า 65 ปี มีอัตรากว่าร้อยละ 14.05 จากจำนวนประชากรทั้งหมดในไต้หวัน ซึ่งตรงตามเกณฑ์ขององค์การอนามัยโลก (WHO) ที่กำหนดให้สังคมผู้สูงอายุจะต้องมีประชากรอายุมากกว่า 65 ปี มากกว่าร้อยละ 14 ของประชากรทั้งหมด และกำหนดให้สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มที่ (super-aged society) จะต้องมีประชากรอายุมากกว่า 65 ปี มากกว่าร้อยละ 21 ของประชากรทั้งหมด ทั้งนี้ คาดว่าไต้หวันจะกลายเป็นสังคม super-aged society ในอนาคตอันใกล้ อย่างไรก็ดี เพื่อตอบสนองต่อการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้สูงอายุในไต้หวัน รัฐบาลไต้หวัน และภาคเอกชนไต้หวันจึงให้ความสำคัญต่อการพัฒนาและวิจัยด้านเทคโนโลยีทางการแพทย์ จึงนับเป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่มีการเติบโตเร็วที่สุดในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา

          ไต้หวันไม่เพียงแต่มีความโดดเด่นในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์เท่านั้น ในช่วงที่ผ่านมา บริษัทเทคโนโลยีชั้นนำในไต้หวันเล็งเห็นถึงแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของผู้สูงวัยในสังคมไต้หวัน และพฤติกรรมที่ชาวไต้หวันใส่ใจสุขภาพมากขึ้น จึงนำจุดเด่นทางเทคโนโลยีที่มีของบริษัทเข้ามามีบทบาทในการพัฒนาเทคโนโลยีและอุปกรณ์ทางการแพทย์มากขึ้น อาทิ (1) บริษัท ASUS ซึ่งเป็นผู้ผลิตคอมพิวเตอร์ชั้นนำของโลก ได้หันมาพัฒนาอุปกรณ์ทางการแพทย์ ประเภท เครื่อง CT Scan (Computerized Tomography) และเครื่อง MRI (Magnetic Resonance Imaging) และ (2) บริษัท BenQ ได้พัฒนาอุปกรณ์ทางการแพทย์ ประเภท เครื่องอัลตราซาวด์และจอแสดงผลทางการแพทย์ ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้บริษัท BenQ ได้มีการส่งมอบอุปกรณ์ทางการแพทย์ให้แก่ประเทศไทยในช่วงการระบาดของโควิด-19 ด้วย

          นอกจากนี้ สถานพยาบาลและสถาบันวิจัยหลายแห่งในไต้หวันได้มุ่งพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีการแพทย์อัจฉริยะ เพื่อตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงด้วยเช่นกัน อาทิ (1) มหาวิทยาลัยต้าเยี่ย (Da-Yeh University) และทีมวิจัยวิทยาลัยการพยาบาล โรงพยาบาลทหารผ่านศึกนครไทจง ที่ได้พัฒนาเทคโนโลยีเตียงอัจฉริยะเพื่อผู้ป่วยระยะยาวซึ่งสามารถสั่งงานผ่านแอปพลิเคชัน หรือสั่งงานด้วยสายตา โดยเตียงอัจฉริยะดังกล่าวได้รับการพัฒนาขึ้นเพื่อช่วยในเรื่องการพลิกตัวของผู้ป่วยและป้องกันการกดทับของแผล และ (2) สถาบันวิจัย Taiwan AI Labs ภายใต้การสนับสนุนจากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคไต้หวัน (Taiwan Center for Diseases Control - CDC) โรงพยาบาลทหารผ่านศึก ไทเป และโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยการแพทย์ไทเป ที่ได้พัฒนาระบบการทำงานของปัญญาประดิษฐ์ เพื่อใช้วินิจฉัยโรคได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ

          สำหรับความร่วมมือทางการแพทย์และสาธารณสุขระหว่างไทยกับไต้หวัน ภายใต้นโยบาย New Southbound ของไต้หวันที่มุ่งเน้นขยายความร่วมมือกับประเทศเป้าหมาย 18 ประเทศ รวมถึงประเทศไทย ซึ่งครอบคลุมความร่วมมือด้านการแพทย์และสาธารณสุขด้วย ส่งผลให้ไทยและไต้หวันมีความร่วมมือด้านการแพทย์และสาธารณสุขใกล้ชิดมากยิ่งขึ้น โดยรัฐบาลไต้หวันได้กำหนดให้โรงพยาบาลจางฮั่ว คริสเตียน (Changhua Christian Hospital) เป็นหน่วยงานนำในการพัฒนาความร่วมมือด้านการแพทย์และสาธารณสุขกับประเทศไทย และการถ่ายทอดองค์ความรู้ทางเทคโนโลยีการแพทย์ รวมถึงถ่ายทอดระบบโรงพยาบาลอัจฉริยะ (Smart Hospital Solutions) ให้แก่สถานพยาบาลของไทย โดยในช่วงที่ผ่านมาโรงพยาบาลจางฮั่วฯ ได้ดำเนินกิจกรรม และมีความร่วมมือกับสถานพยาบาลในไทยหลายแห่ง เช่น โรงพยาบาลธนบุรี โรงพยาบาลกรุงเทพคริสเตียน และโรงพยาบาลหัวเฉียว เป็นต้น

5c5c4564aa8b90f2a01d7d72879e8449

          ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางด้านบริการทางการแพทย์ที่ได้รับความสนใจจากทั่วโลก โรงพยาบาลอีกหลากหลายแห่งในประเทศไทยสามารถเรียนรู้และนำเทคโนโลยีทางการแพทย์จากไต้หวันมาใช้ในโรงพยาบาลเพื่อยกระดับการให้บริการทางการแพทย์ให้ก้าวหน้า ทันสมัย และเพิ่มประสิทธิภาพในด้านเทคโนโลยีการแพทย์มากยิ่งขึ้นในอนาคต

 

อาหารเพื่อสุขภาพ

          นอกจากเทคโนโลยีอุปกรณ์ทางการแพทย์แล้ว ปัจจุบัน ชาวไต้หวันโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่มีแนวโน้มหันมาใส่ใจดูแลสุขภาพมากขึ้น โดยผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพ เช่น ผลิตภัณฑ์ออร์แกนิค อาหารเสริมและวิตามิน ต่างมีวางจำหน่ายอย่างแพร่หลาย และหลากประเภทมากขึ้นในไต้หวัน ซึ่งสะท้อนพฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปของคนรุ่นใหม่ ก่อนหน้านี้ บริษัท Euromonitor International บริษัทวิจัยตลาดระดับโลก ประเทศสหราชอาณาจักร ได้จัดทำรายงานการสำรวจสถิติการบริโภคอาหารเสริมในไต้หวันระหว่างปี 2559 - 2564 เมื่อเดือน ก.ย. 2564 พบว่า ผู้บริโภคไต้หวันมีแนวโน้มการบริโภคผลิตภัณฑ์อาหารเสริมและวิตามินมากขึ้นหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 เพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกันให้แก่ร่างกาย ดังนั้น จากแนวโน้มการบริโภคและพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้บริโภคชาวไต้หวันที่ใส่ใจกับสุขภาพมากขึ้น ภาคเอกชนไทยอาจมีความร่วมมือกับไต้หวันในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารเพื่อสุขภาพ อาทิ อาหารเสริม วิตามิน สมุนไพรไทย ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีแนวโน้มความต้องการจากผู้บริโภคชาวไต้หวันมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งเป็นที่รู้จักและนิยมจากนักท่องเที่ยวไต้หวันที่เดินทางไปยังประเทศไทยอยู่ก่อนแล้ว การส่งเสริมให้ภาคเอกชนเข้ามามีความร่วมมือกับไต้หวัน หรือส่งเสริมให้ผลิตภัณฑ์ประเภทดังกล่าวสามารถเข้ามาวางจำหน่ายในไต้หวัน เป็นอีกหนึ่งโอกาสทางธุรกิจของไทยที่สอดคล้องกับทิศทางด้านสุขภาพของชาวไต้หวัน ณ ปัจจุบัน

 

งานนิทรรศการ Healthcare+ Expo 2022

          ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 1 - 4 ธ.ค. 2565 เวลา 10.00 - 18.00 น. สถาบันส่งเสริมเทคโนโลยีชีวภาพและอุตสาหกรรมการแพทย์ (The Institute for Biotechnology and Medicine Industry - IBMI) มีกำหนดจัดงาน Healthcare+ Expo 2022 ณ ศูนย์จัดแสดงหนานกั่งไทเป (Taipei Nangang Exhibition Center) ซึ่งเป็นนิทรรศการที่รวบรวมความก้าวหน้าด้านชีวการแพทย์และเทคโนโลยีด้านการดูแลสุขภาพ ซึ่งจะมีการจัดแสดงเทคโนโลยีทางการแพทย์ต่าง ๆ ของไต้หวัน จากผู้ร่วมจัดแสดงกว่า 600 บริษัท บูธจัดแสดงกว่า 1850 บูธ โดยผู้ที่สนใจเข้าร่วมงานดังกล่าว สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://expo.taiwan-healthcare.org/en/index.php

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ