วันที่นำเข้าข้อมูล 7 ธ.ค. 2560
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565
เนื่องจากอัตราความต้องการสินค้าอุปโภคบริโภคจากทั่วโลกมีเพิ่มมากขึ้น จึงทำให้การลำเลียงอาหารที่ยังคงคุณภาพไปยังสถานที่ต่าง ๆ เป็นสิ่งสำคัญ "บริการห้องเย็น" หรือ "Cold Chain" เป็นเครื่องมือการบริการด้านโลจิสติกส์ที่นำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ เพื่อทำให้สามารถขยายวงจรเวลาจำหน่ายของสินค้า เก็บรักษาอาหารสดเหล่านั้นให้คงคุณภาพไว้ ก่อนที่จะนำส่งไปยังจุดจำหน่ายให้ผู้บริโภคต่าง ๆ
เมื่อวันที่ 30 ต.ค. 2560 Takming University of Science and Technology (TMUST) ไต้หวันและ ASEAN Federation of Forwarders Associations (AFFA) ได้ร่วมมือกันจัดงานสัมมนา "Southeast Asia Regional Cold Chain Logistics Science and Technology" ณ Takming University of Science and Technology โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและประสบการณ์เกี่ยวกับการพัฒนาการส่งออกด้านการบริการห้องเย็น (Cold Chain Logistics) ให้แก่ตัวแทนจาก 7 ประเทศในอาเซียน ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย เวียดนาม ไทย ฟิลิปปินส์ กัมพูชาและพม่า รวมทั้ง ผู้ประกอบการที่สนใจจะลงทุนในด้านการขนส่งโลจิสติกส์
ในการสัมมนาฯ ได้มีการเชิญวิทยากรผู้มีประสบการณ์มาบรรยายในหัวข้อต่าง ๆ อาทิ
1.พันธมิตรและความสัมพันธ์ด้านการขนส่งระหว่างอาเซียน (Alliance & Correlation for Logistics) บรรยายโดย Mr. Stanley Lim, AFFA General Secretary : "เนื่องจากการส่งออกผลิตภัณฑ์จากประเทศอาเซียนมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง และผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่เป็นประเภทอาหารหรือของสด การได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความรู้ด้านการวิจัยเรื่องการส่งออกในรูปแบบบริการห้องเย็น (Cold Chain Logistics) เพื่อการพัฒนาร่วมกัน สร้างเครือข่ายระหว่างอาเซียนจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก
นอกจากนี้ การแลกเปลี่ยนบุคลากรที่มีความสามารถด้านการนำเข้าส่งออก มีความรู้ในด้านผลิตภัณฑ์และทรัพยากรต่าง ๆ ก็จะเพิ่มโอกาสในการทำธุรกิจร่วมกัน สร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างอาเซียนและประเทศเอเชียให้ยั่งยืนในอนาคตต่อไป"
2.การพัฒนาการบริการห้องเย็นจากประสบการณ์ของไต้หวัน (Taiwan's Experience on Cold Chain Development) บรรยายโดย Mr. Ju-Chia Kuo Deputy general Director, Service System Technology Center, ITRI : "การพัฒนาในด้านส่งออกโดยการบริการห้องเย็นอย่างต่อเนื่องนั้นมีความสำคัญมาก เนื่องจากผลิตภัณฑ์อาหารสดที่ตลาดต้องการมีความหลากหลาย จึงจำเป็นต้องทำความเข้าใจและเรียนรู้ถึงกระบวนการขั้นตอนการส่งออก ผลิตภัณฑ์อาหารสด อุณหภูมิของห้องเย็น เป็นต้น เพื่อปรับให้เหมาะสมกับสถานการณ์ โดยทางสถาบัน Industrial Technology Research Institute (ITRI) ให้ความสำคัญในด้านนี้เป็นอย่างมาก เพื่อให้ผลิตภัณฑ์อาหารสดที่ส่งออกไปมีคุณภาพมากยิ่งขึ้น โดยพัฒนาการควบคุมอุณหภูมิให้เหมาะสม ผ่าน Application (App) ซึ่งสามารถควบคุมระบบอุณหภูมิเพื่อการส่งออกได้ตลอดเวลา อีกทั้งกระบวนขั้นตอนระหว่างการขนส่งล้วนปรับใช้ APP เพื่อความสะดวกและทันสมัย สามารถตรวจสอบได้อย่างละเอียดมากยิ่งขึ้นด้วย"
3.โอกาสในด้านธุรกิจขนส่งบริการห้องเย็นระหว่างประเทศ (International Logistics Service Cold Chain Business Opportunities) บรรยายโดย Mr. Jowett Ju, Assistant to President, Can-Power Enterprise Co.,Ltd : "เนื่องจากผลผลิตทางการเกษตรในประเทศแถบเอเชียส่วนใหญ่เป็นผลไม้สด "ผลไม้" จึงเป็นผลิตภัณฑ์ส่งออกอันดับต้น ๆ ดังนั้น การวิจัยเพื่อพัฒนาระบบการจัดการห้องเย็นจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อขยายโอกาสทางการส่งออกมากยิ่งขึ้น ไต้หวันได้มีความสนใจในการวิจัยห้องเย็นในหลากหลายรูปแบบ โดยเน้นเรื่องเครื่องจักรในส่วนต่าง ๆ เพื่อให้เหมาะสมกับผลไม้แต่ละชนิด"
4.โอกาสด้านการเกษตรใหม่ ๆ ในไต้หวัน โดยผ่านเทคโนโลยีการขนบริการห้องเย็น (Exploring the New Agriculture in Taiwan thorough Cold Chain Technology) บรรยายโดย Mr. Tian-cheng Wu , Chairman, Taiwan Agricultural Producer & Promoter Association (TAPPA) : "จากการวิจัยโดย Taiwan Agricultural Producer & Promoter Association (TAPPA) เผยว่า นอกจากการรักษาอุณหภูมิในห้องเย็นแล้ว การตัดแต่งผลไม้ก่อนนำส่งเพื่อคงคุณภาพให้ผลไม้ยังคงสดใหม่ก็เป็นสิ่งสำคัญโดยไต้หวันได้เปิดโอกาสให้มีความร่วมมือในด้านการวิจัยต่าง ๆ อาทิ การแลกเปลี่ยนความรู้ด้านระบบการขนส่งการตรวจสอบระบบ Pilot (Pilot system คือ วิธีทดลองโดยนำคอมพิวเตอร์ไปใช้ในสาขาใดสาขาหนึ่งหรือระบบการนำข้อมูลตัวอย่างจำนวนหนึ่งมาประมวลผลเพื่อจะได้ประเมินผล แล้วนำไปปรับปรุงกระบวนการที่จะปฏิบัติจริงต่อไป"
5.โอกาสและการสร้างความร่วมมือระหว่างอุตสาหกรรมการส่งออกระหว่างไต้หวันกับอาเซียน (Cooperation and Prospect of ASEAN and Taiwan's Cold Chain Logistics Industry) บรรยายโดย Ms. Hui-Chuan Chen, DIvision Director, ITRI และ Mr. Iman Gandimihardja, Cheif Secretary, AFFA : "ปัจจัยสำคัญ 3 ประการในการสร้างโอกาสและการสร้างความร่วมมือระหว่างการส่งออกของไต้หวันกับอาเซียน คือ เร็ว ดี และปลอดภัย (Fast good safe) โดยต้องมีการพัฒนาท่าเรือ เทคโนโลยีระบบคอนเทนเนอร์ในรูปแบบต่าง ๆ ระบบ Information Technology (IT) / ระบบการติดตามกระบวนการทำงาน (Tracking System) / ระบบการควบคุมอุณหภูมิและ App สำหรับกระบวนการขนส่ง นอกจากนี้ ควรต้องพัฒนาความร่วมมือ E-commerce ให้สอดคล้องกับระบบ IOT สำหรับรูปแบบ Home-delivery / I-pickup ผ่านตู้ไปรษณีย์สมัยใหม่ด้วย เพื่อให้ธุรกิจระหว่างประเทศในด้านโลจิสติกส์เติบโตขึ้นอย่างยั่งยืนต่อไป"
หลังจากสัมมนาฯ ผู้จัดได้เชิญคณะผู้เข้าร่วมสัมมนาไปเยี่ยมชมห้องทดลองระบบการขนส่งที่ก่อตั้งขึ้นภายใน Takming University of Science and Technology เพื่อให้นักศึกษาคณะการจัดการการขนส่งสินค้าได้เข้ามาศึกษาและฝึกงานเพื่อนำไปใช้เมื่อปฏิบัติงานจริงในอนาคตอีกด้วยสำหรับผู้แทนจากประเทศไทยที่ได้รับเชิญเข้าร่วมฟังการสัมมนาในครั้งนี้ ได้แก่ นายลำไผ่ ตระกูลสันติ อาจารย์หัวหน้าแขนงวิชาการจัดการการขนส่งสินค้าทางอากาศ วิทยาลัยโลจิสติกส์และซัพพลายเชน มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา ซึ่งได้ให้ความเห็นว่า
"โครงการสัมมนานี้จัดโดยความร่วมมือระหว่าง AFFA กับTMUST ผู้ที่มาเข้าร่วมในครั้งนี้จึงมีโอกาสสร้างเครือข่ายระดับภูมิภาคระหว่างอาเซียนกับไต้หวัน ซึ่งทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิด วัฒนธรรมและความรู้ด้านโลจิสติกส์ต่าง ๆ อาทิ การดำเนินงานธุรกิจห่วงโซ่อุปทานสินค้า การควบคุมอุณหภูมิที่ทันสมัยของแต่ละประเทศ นวัตกรรมสมัยใหม่และสิ่งประดิษฐ์เพื่อการพัฒนาประเทศการดำเนินธุรกิจด้านการเกษตรกรรม หลักการขนส่งและการนำเข้าส่งออกยานยนต์ทางเรือ การกระจายสินค้า เป็นต้นซึ่งข้อมูลและองค์ความรู้นี้ ก็จะนำกลับไปเพื่อประกอบการสอนที่ประเทศไทย และจะนำไปวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้เพื่อนำไปสู่การพัฒนาประเทศต่อไป"
สุดท้ายนี้ นายลำไผ่ฯ ได้กล่าวเสริมว่าตนประทับใจภูมิประเทศที่สวยงาม สถาปัตยกรรมอันโดดเด่น รสชาติอาหารที่กลมกล่อม รวมทั้ง ความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีที่ทันสมัยของไต้หวันเป็นอย่างมาก
รูปภาพประกอบ