เปิดโลกทัศน์การคุ้มครองสิทธิทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ณ ไต้หวัน

เปิดโลกทัศน์การคุ้มครองสิทธิทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ณ ไต้หวัน

วันที่นำเข้าข้อมูล 14 ธ.ค. 2560

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 1,015 view

     ผลงานที่เกิดจากความคิดสร้างสรรค์หรือสิ่งประดิษฐ์ ล้วนเป็นสิ่งที่ผู้สร้างสรรค์ไม่ต้องการให้ผู้ใดลอกเลียนแบบ การจดทะเบียนสิทธิการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา หรือที่ถูกเรียกกันว่า "จดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา"  จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่เสมือนเป็นเครื่องมือยืนยันการสร้างแบรนด์ให้กับผลงานของเราเอง

     เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2560 กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงเศรษฐการไต้หวัน (Intellectual Property Office (TIPO), MOEA)  ได้จัดงานสัมมนา "The IP Landscape in Southeast Asian Countries" ณ GIS MOTC Convention Center  ซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลและองค์ความรู้เกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิทรัพย์สินทางปัญญา (Intellectual Property หรือ IP)* ของประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

     ทั้งนี้ ในการสัมมนาฯ ได้มีการเชิญวิทยากรผู้มีประสบการณ์จากประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาบรรยาย อาทิ

            1. นางสาว Fatimah Rohada Dahalan, Assistant Director General (Planning & Business Development), Intellectual Property Corporation of Malaysia (MyIPO) จากมาเลเซีย บรรยายว่า

            "การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในประเทศมาเลเซียนั้นให้ความสำคัญ 3 ปัจจัย ได้แก่ 1) การแสดงเครื่องหมาย (Representation of a mark) 2) เอกสารประกอบการพิจารณา (Supporting Documents) 3) รายละเอียดของผลิตภัณฑ์/ การบริการ (List of goods/Services) โดยการขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าต้องอยู่บนฐานที่ไม่ซ้ำกับของผู้อื่น

            ทั้งนี้ สถิติจำนวนผู้ได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในมาเลเซียในปี 2559 ประกอบด้วย 1) ชาวต่างชาติ 20,120 ราย 2) ชาวมาเลเซีย 12,686 ราย รวมทั้งสิ้น 32,806 ราย และสถิติจำนวนผู้ได้รับการจดทะเบียนสิทธิบัตร หรือ หนังสือสำคัญที่รัฐออกให้เพื่อคุ้มครองการประดิษฐ์คิดค้นหรือการออกแบบผลิตภัณฑ์ในมาเลเซียในปี 2559 ประกอบด้วย 1) ชาวต่างชาติ 2,980 ราย 2) ชาวมาเลเซีย 373 ราย รวมทั้งสิ้น 3,353 ราย"

            2. นายศิรพัทธ์ วัชราภัย นักวิชาการพาณิชย์ชำนาญการ กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ จากประเทศไทย บรรยายว่า :

            "กรมทรัพย์สินทางปัญญากำลังผลักดันแผนงาน (Roadmap) ด้านทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศระยะ 20 ปี สู่ประเทศไทย 4.0 (20-Year IP Roadmap towards Thailand 4.0) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมนวัตกรรม (Innovation) และเศรษฐกิจที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานขององค์ความรู้ (Knowledge based Economy) รวมถึงการส่งเสริมรายได้เข้าสู่ประเทศ โดยแบ่งเป็น 6 ด้าน ดังนี้  

1) การสร้างสรรค์ (IP Creation) 2) การคุ้มครอง (IP Protection) 3) การใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ (IP Commercialization) 4) การบังคับใช้กฎหมาย (IP Enforcement) 5) ด้านสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indication) 6) ด้านการปกป้องภูมิปัญญาท้องถิ่นและการแสดงออกทางวัฒนธรรมแบบดั้งเดิม (GRs, TK and TCEs)"

(ดูข้อมูลเพิ่มเติมจากเว็บไซต์ : www.ipthailand.go.th/images/633/2560/01/roadmap20.pdf)

              นอกจากนี้ นายศิรพัทธ์ฯ ยังกล่าวเสริมอีกว่า "สถิติจำนวนผู้ได้รับการจดทะเบียนการออกแบบในประเทศไทยในปี 2559 ประกอบด้วย 1) ชาวต่างชาติ 1,357 ราย 2) ชาวไทย 3,566 ราย รวมทั้งสิ้น 4,923 ราย และสถิติจำนวนผู้ได้รับการจดทะเบียนสิทธิบัตรในประเทศไทยในปี 2559 ประกอบด้วย 1) ชาวต่างชาติ 6,722 ราย 2) ชาวไทย 1,098 ราย รวมทั้งสิ้น 7,820 ราย

            ทั้งนี้ กรมทรัพย์สินทางปัญญาแห่งประเทศไทยคาดหวังว่าจะมีความร่วมมือในด้านการแลกเปลี่ยนข้อมูลและองค์ความรู้กับประเทศอื่น ๆ มากยิ่งขึ้นในอนาคต"

(ดูข้อมูลเพิ่มเติมจากเว็บไซต์ กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ : www.ipthailand.go.th/th/home.html )

 

 

ข้อมูลเพิ่มเติม

            ทรัพย์สินทางปัญญา (IP: Intellectual Property) หมายถึง ผลงานที่เกิดจากการประดิษฐ์ คิดค้นโดยบุคคลซึ่งทรัพย์สินทางปัญญาอาจแสดงออกในรูปแบบของสิ่งของที่จับต้องได้ หรือ ในรูปแบบจับต้องไม่ได้ อาทิ การบริการ แนวคิดในการดำเนินธุรกิจ เป็นต้น

           

 

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ