รู้ลึกพลังงานสีเขียวของไต้หวัน (ตอนจบ)

รู้ลึกพลังงานสีเขียวของไต้หวัน (ตอนจบ)

วันที่นำเข้าข้อมูล 24 ม.ค. 2561

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 27 พ.ย. 2565

| 1,522 view

     ไต้หวันให้ความสำคัญเรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อมมาเป็นอันดับต้น ๆ โดยนอกจากจะผลักดันการลงทุน เพื่อพัฒนาพลังงานสีเขียวในด้านต่าง ๆ แล้ว ยังได้ออกมาตรการบังคับในสถานที่สาธารณะ รวมถึงมีการผลักดันอุตสาหกรรมพลังงานสีเขียวอีกด้วย

     กรมพลังงาน กระทรวงเศรษฐการ ไต้หวัน ได้ออกมาตรการบังคับให้ 20 สถานที่สาธารณะ ห้ามเปิดเครื่องปรับอากาศอุณหภูมิต่ำกว่า 26 องศาเซลเซียส อาทิ ห้างสรรพสินค้า ซุปเปอร์มาร์เก็ต โรงภาพยนตร์ โรงพยาบาลและสถานที่ราชการต่าง ๆ

     ทั้งยังมีแผนการประหยัดพลังงาน 4 มาตรการ ได้แก่

            1. ห้ามบริษัทหรือร้านค้าต่าง ๆ 20 ประเภทใช้หลอดไฟฮาโลเจน (Halogen lamp) ซึ่งเป็นหลอดไฟที่ใช้กระแสไฟฟ้ามากกว่าหลอดไฟขนาดเดียวกัน                                 

            2. เพิ่มการตรวจสอบการใช้เครื่องปรับอากาศให้ตรงตามมาตรฐาน 

            3. จัดกิจกรรมแข่งขันการประหยัดไฟ

            4. ให้เงินอุดหนุนโรงงานที่เปลี่ยนอุปกรณ์ประหยัดพลังงาน

     เมื่อต้นเดือนมกราคม 2561 ที่ผ่านมา รัฐบาลไต้หวันได้ออกมาตรการจำกัดการใช้ถุงพลาสติกตามร้านค้าต่าง ๆ อาทิ ร้านขายเครื่องสำอาง ร้านขายยา ร้านขายอุปกรณ์การแพทย์ ร้านขายเครื่องใช้ไฟฟ้า และอุปกรณ์สื่อสาร  ร้านหนังสือและเครื่องเขียน ร้านซักอบรีด ร้านขายเครื่องดื่มและร้านเบเกอรี่ โดยงดให้ถุงพลาสติกแก่ลูกค้า ผู้ที่ฝ่าฝืนมีโทษถูกปรับเป็นเงิน 1,200-6,000 ดอลลาร์ไต้หวัน คาดว่าแต่ละปีจะสามารถลดปริมาณถุงขยะพลาสติกลงได้ 150 ล้านถุง โดยหากต้องการซื้อถุงพลาสติกเพิ่มต้องชำระเงินจำนวน 1-2 ดอลลาร์ไต้หวันต่อ 1 ถุง

     นอกจากนี้ ไต้หวันยังให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ในด้านอุตสาหกรรมพลังงานสีเขียว ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในนโยบายพัฒนาอุตสาหกรรม 5+2 ของรัฐบาลไต้หวัน โดย Green Trade Project Office (GTPO) กระทรวงเศรษฐการไต้หวัน ให้ข้อมูลว่า

     การประหยัดพลังงานของไต้หวัน จะผลักดันการใช้หลอดไฟแอลอีดีและอุปกรณ์จัดเก็บพลังงาน(ซึ่งไต้หวันผลิตแอลอีดีเป็นอันดับ 2 ของโลก) รวมถึงเป็นผู้นำด้านการให้บริการระบบสมาร์ทกริด (Smart Grid)* และบริษัทในไต้หวันกว่า 8,000 แห่ง ได้มีการส่งออกอุปกรณ์อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเป็นจำนวนมาก อาทิ อุปกรณ์กรองน้ำ อุปกรณ์ควบคุมมลพิษทางอากาศ รวมมูลค่าการส่งออกแต่ละปี 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

     โดยแม้แต่บริษัท Tesla Motors ซึ่งเป็นบริษัทของสหรัฐอเมริกาที่ออกแบบผลิตและจำหน่ายรถพลังงานไฟฟ้า ยังไว้วางใจให้ไต้หวันผลิตชิ้นส่วนประกอบรถยนต์ กว่าร้อยละ 70 อีกด้วย

     GTPO ยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่า การก่อสร้างซึ่งมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมก็เป็นนโยบายสำคัญ โดยจากการจัดอันดับของ LEED  (LEED หรือ Leadership in Energy and Environmental Design คือระบบการออกใบประกาศการยอมรับอาคารเขียวระดับนานาชาติ) ไต้หวันมีสิ่งปลูกสร้างสีเขียวเป็นอันดับที่ 6 ของโลก ทั้งนี้ ตึกไทเป 101 เป็นหนึ่งในอาคารสีเขียวที่สูงที่สุดในโลก และไต้หวันต้องการผลักดันมาตรการ "การคมนาคมรักษาสิ่งแวดล้อม" (Low Carbon Transportation) โดยเป็นผู้นำการผลิตจักรยานอันดับ 1 ของโลก

     ปัจจุบันไต้หวันได้มีการแยกประเภทขยะอย่างเคร่งครัด ตามนโยบาย "ขยะไม่ตกพื้น" (Trash Doesn't Touch The Ground Policy) ทั้งยังพัฒนาการรีไซเคิลทรัพยากร (Recycling of Resources) อย่างต่อเนื่อง มีอัตราการรีไซเคิลแก้วเป็นอันดับ 2 ของโลก นอกจากนี้ ภายใน 8 ปี รัฐบาลไต้หวันจะผลักดันการใช้พลังงานรีไซเคิลให้เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 20 ของการใช้พลังงานทั้งหมดอีกด้วย

            จากข้อมูลข้างต้นแสดงให้เห็นชัดเจนถึงความตั้งใจของรัฐบาลไต้หวันที่จะสนับสนุนการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (Taiwan Greening Your Life) ทั้งวิจัยและพัฒนาด้านต่าง ๆ ที่สอดคล้องกับนโยบายสีเขียว รวมถึงยังผลักดันอุตสาหกรรมพลังงานสีเขียวอย่างต่อเนื่อง นโยบายสีเขียวของไต้หวันจึงเป็นที่น่าจับตามองต่อไป

 

ข้อมูลเพิ่มเติม

            ระบบสมาร์ทกริด (Smart Grid)* คือ การพัฒนาให้ระบบไฟฟ้าสามารถตอบสนองต่อการทํางานได้อย่างชาญฉลาดมากขึ้น หรือมีความสามารถมากขึ้นโดยใช้ทรัพยากรที่น้อยลง (Doing More with Less) มีประสิทธิภาพ มีความน่าเชื่อถือ มีความปลอดภัย มีความยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งสามารถทําให้เกิดขึ้นได้โดยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีระบบสื่อสารสารสนเทศ (ICT) ระบบเซ็นเซอร์ ระบบเก็บข้อมูลและเทคโนโลยีทางด้านการควบคุมอัตโนมัติเพื่อทําให้ระบบไฟฟ้ากําลังสามารถรับรู้ข้อมูลสถานะต่างๆ ในระบบมากขึ้นเพื่อใช้ในการตัดสินใจอย่างอัตโนมัติ

            ทั้งนี้ กระบวนการเหล่านี้จะต้องเกิดขึ้นทั่วทั้งระบบไฟฟ้าครอบคลุม ระบบผลิต ระบบส่ง ระบบจําหน่าย และระบบผู้ใช้ไฟฟ้า

 

            ขอขอบคุณข้อมูลจาก สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน

            ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ เว็บไซต์ : www.thai-smartgrid.com

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ