ไต้หวันเล็งลงทุนในประเทศเป้าหมายตามนโยบายมุ่งใต้ใหม่ (New Southbound)

ไต้หวันเล็งลงทุนในประเทศเป้าหมายตามนโยบายมุ่งใต้ใหม่ (New Southbound)

วันที่นำเข้าข้อมูล 8 ก.พ. 2561

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 1,638 view

     ไต้หวันมุ่งมั่นที่จะผลักดันนโยบายมุ่งใต้ใหม่ (New Southbound) อย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุด ได้จัดการสัมมนาเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลต่าง ๆ ที่น่าสนใจเกี่ยวกับประเทศอาเซียนและประเทศแถบเอเชียแปซิฟิก เพื่อหวังว่าผู้ประกอบการไต้หวันจะก้าวออกไปลงทุนในประเทศเป้าหมายตามนโยบายมุ่งใต้ใหม่มากยิ่งขึ้น

     เมื่อวันที่ 31 ม.ค. 2561 Taiwan External Trade Development Council หรือ TAITRA ได้จัดการสัมมนา  "เปิดภาพรวมตลาดในประเทศเป้าหมายตามนโยบายมุ่งใต้ใหม่ ปี 2018" ณ Taipei International Convention Center เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและองค์ความรู้เกี่ยวกับการเติบโตของตลาดประเทศในอาเซียนและประเทศแถบเอเชียแปซิฟิกตามนโยบายมุ่งใต้ใหม่ของไต้หวัน

ในช่วงพิธีเปิด นาย James C. F. Huang  Chairman, TAITRA กล่าวว่า "ตลาดในอาเซียนและประเทศแถบเอเชียแปซิฟิกกำลังเป็นที่จับตามองของหลายประเทศ อาทิ จีน ญี่ปุ่นหรือสหรัฐอเมริกา ซึ่งปัจจุบันไต้หวันเองได้ตั้งเป้าหมายที่จะเข้าไปลงทุนในตลาดอาเซียนและในประเทศแถบเอเชียแปซิฟิกมากยิ่งขึ้นเช่นกัน และการมีความร่วมมือทางการค้าได้ส่งผลให้ตัวเลขการค้าของไต้หวันเพิ่มขึ้น โดยสองปีที่ผ่านมา ไต้หวันได้ผลักดันนโยบายมุ่งใต้ใหม่ (New Southbound) อย่างจริงจัง

     ผู้ประกอบการไต้หวันได้ไปลงทุนในประเทศต่าง ๆ ในอาเซียนเป็นจำนวนมาก ซึ่งการผลักดันนวัตกรรมและเทคโนโลยีของไต้หวันเข้าสู่ตลาดอาเซียน เป็นวิธีที่น่าสนใจเป็นอย่างมาก ส่งผลให้เมื่อปีที่ผ่านมา TAITRA ได้จัดงานนิทรรศการ Taiwan Expo ใน 4 ประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย เวียดนามและฟิลิปปินส์ โดยในงานนิทรรศการฯ TAITRA ได้เชิญผู้ประกอบการไต้หวันไปแสดงผลิตภัณฑ์ที่โดดเด่นของไต้หวันในประเทศดังกล่าว

     ในปี 2561 นี้ TAITRA จะจัดงานนิทรรศการ Taiwan Expo 2018 ใน 5 ประเทศอาเซียน ได้แก่ อินโดนีเซีย อินเดีย เวียดนาม ไทยและมาเลเซีย  โดยจะผลักดันผลิตภัณฑ์ที่เป็นที่จับตามองและได้เปรียบของไต้หวัน อาทิ การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เทคโนโลยีและนวัตกรรม ดิจิทัล หรือ IOT เป็นต้น เพื่อผลักดันให้ไต้หวันได้ก้าวเข้าสู่ ตลาดโลกต่อไป"

     ในการสัมมนาฯ ได้มีการเชิญวิทยากรผู้มีประสบการณ์มาบรรยายในหัวข้อต่าง ๆ อาทิ


     1. ปัจจัยสำคัญสำหรับการก้าวสู่ประเทศเป้าหมายตามนโยบายมุ่งใต้ใหม่

         บรรยายโดย นาย Nick K. Ni, Chief Secretary of The Bureau of Foreign Trade, กระทรวงเศรษฐการไต้หวัน :

         ในปี 2560 ที่ผ่านมา ไต้หวันได้มีความร่วมมือที่ดีด้านการค้ากับประเทศในแถบเอเชียแปซิฟิก และประเทศ ในอาเซียนมาโดยตลอด อาทิ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซียและไทย เนื่องจากประชากรที่มีเป็นจำนวนมาก ในประเทศเป้าหมายนั้นช่วยส่งเสริมให้ไต้หวันมีจำนวนแรงงานและบุคลากรที่มีฝีมือมากยิ่งขึ้น รวมถึงเยาวชนรุ่นใหม่ที่มีพรสวรรค์ด้านต่าง ๆ ล้วนสามารถส่งเสริมซึ่งกันและกันได้เช่นกัน

         โดยปัจจัยสำหรับการลงทุนคือ ไต้หวันต้องเรียนรู้และทำความเข้าใจเกี่ยวกับวัฒนธรรมในด้านต่าง ๆ ของประเทศเป้าหมาย เพื่อเรียนรู้แนวทางที่จะสอดคล้องกับตลาดและพัฒนาในทุก ๆ ด้านอย่างตรงจุด โดยเฉพาะ การนำเข้า - ส่งออก จึงจะทำให้การก้าวสู่ตลาดเป้าหมายมีความมั่นคงและยั่งยืนอย่างแท้จริง
 

     2. วิเคราะห์ภาพรวมของตลาดในประเทศเป้าหมายตามนโยบายมุ่งใต้ใหม่ (New Southbound)

         บรรยายโดย นางสาว Kristy Hsu, Director, Taiwan Asean Studies Center of Chung-Hua Instutution for Economic Research :

         ภาพรวมของตลาดในประเทศเป้าหมายตามนโยบายมุ่งใต้ใหม่ (New Southbound) มี 3 ประการที่ต้องจับตามอง ได้แก่

         1) ภาพรวมด้านเศรษฐกิจ : ภาพรวมอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจระหว่างประเทศของประเทศเป้าหมาย มีอัตราสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ส่งผลให้หลายประเทศเป้าหมายตามนโยบายมุ่งใต้ใหม่น่าสนใจเป็นอย่างมาก โดยปัจจัยสำคัญในการเติบโตของเศรษฐกิจได้แก่ อัตราการใช้จ่ายของประชาชน การลงทุน อัตราการแลกเปลี่ยนทางการเงิน

         Taiwan Asean Studies Center  รายงานภาพรวมประจำเดือนธันวาคม 2560 ว่า ประเทศอาเซียนมีอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจ (GDP) เพิ่มขึ้น อาทิ ไทยร้อยละ 3.8 / เวียดนามร้อยละ 6.7 / สิงคโปร์ร้อยละ 3.2 / ฟิลิปปินส์ 6.7 / มาเลเซียร้อยละ 5.8 / อินโดนีเซียร้อยละ 5.1 


         2) การแข่งขันและโอกาส : สิ่งที่ต้องตระหนักในการแข่งขันในประเทศเป้าหมายที่อาจส่งผลกระทบ ได้แก่ กฎหมายการคุ้มครองประชาชนในประเทศ การแข่งขันระหว่างนักลงทุนต่างชาติ และการเมืองภายในประเทศที่ไม่เสถียร โดยโอกาสในการลงทุนในประเทศเป้าหมายที่เห็นได้ชัดเจน ได้แก่ การเปิดตลาดที่เสรีแก่ชาวต่างชาติเพื่อมาลงทุน ภาคธุรกิจการค้าและอุตสาหกรรมที่เป็นสายโซ่อุปทาน (Supply Chain) อย่างมีประสิทธิภาพ

         3) โอกาสสำหรับไต้หวัน : ปัจจุบันไต้หวันได้เข้าไปลงทุนในประเทศอาเซียนเป็นจำนวนมาก อาทิ อินโดนีเซีย ไทย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และเวียดนาม โดยจากรายงานของ Taiwan Asean Studies Center  ประจำเดือนมิถุนายน 2560 รายงานว่า เวียดนามเป็นประเทศที่ไต้หวันได้มีการลงทุนมากที่สุด  โดยอัตราการลงทุนภาพรวมทุกด้าน (ลงทุนในตลาดหุ้น / บริษัท / คู่ค้า ฯลฯ) เป็นจำนวนเงินรวมทั้งหมดประมาณ 1.55 ล้านล้านบาท (50,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) และมีแรงงานในสถานประกอบการเป็นจำนวน 1.5 ล้านคน 

     นอกจากนี้ ในปี 2560 สัดส่วนและตัวเลขการลงทุนของบริษัทไต้หวันในประเทศต่าง ๆ  มีดังนี้ เวียดนาม ร้อยละ 36 (33,566 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) / อินโดนีเซียร้อยละ 19 (17,541 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) / ไทยร้อยละ 15 (14,307 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) / สิงคโปร์ร้อยละ 14 (13,154 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) / มาเลเซียร้อยละ 13 (12,297 ล้าน) / ฟิลิปปินส์ร้อยละ 2 (2,330 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) / กัมพูชาร้อยละ 1 (1,151 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)         

     ทั้งนี้ นางสาว Kristy ยังกล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า "สำหรับผู้ประกอบการไต้หวันด้านอุตสาหกรรมอาหาร หากมีหนังสือรับรองการผลิตอาหารฮาลาล (Halal) สำหรับชาวมุสลิม โอกาสในการเติบโตอย่างก้าวกระโดด จากการลงทุนด้านอาหารในตลาดของประเทศเป้าหมายไม่ไกลเกินเอื้อมอย่างแน่นอน"

 

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ