สถานการณ์เศรษฐกิจในไต้หวัน ประจำไตรมาสที่ 1/2566

สถานการณ์เศรษฐกิจในไต้หวัน ประจำไตรมาสที่ 1/2566

วันที่นำเข้าข้อมูล 20 เม.ย. 2566

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 12 ธ.ค. 2566

| 3,527 view
econupdatelogo
  1. ภาพรวมเศรษฐกิจไต้หวัน

1.1 อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ

เมื่อวันที่ 22 ก.พ. 2566 สำนักสถิติและบัญชีกลางไต้หวันประกาศปรับลดตัวเลขคาดการณ์ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของไต้หวันในปี 2566 ลงมาอยู่ที่ร้อยละ 2.12 จากเดิมที่คาดการณ์ไว้เมื่อเดือน พ.ย. 2565 ที่ร้อยละ 2.75 ซึ่งเป็นการขยายตัวต่ำสุดในรอบ 8 ปี โดยมีปัจจัยสำคัญจากการดำเนินนโยบายทางการเงินที่เข้มงวดเพื่อรับมือกับภาวะเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นในประเทศต่าง ๆ และความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครนที่ส่งผลให้อุปสงค์โลกชะลอตัวลง สำหรับการบริโภคภาคเอกชนคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 5.24 เนื่องจากการผ่อนคลายมาตรการโควิด-19 ส่งผลให้การบริโภคกลับสู่ภาวะปกติ กอปรกับตลาดการจ้างงานที่ปรับตัวดีขึ้น และการท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มดีขึ้นหลังจากไต้หวันเปิดพรมแดนอีกครั้ง

รายได้ประชาชาติต่อหัว (GNI per capita) ของไต้หวันในปี 2565 อยู่ที่ 33,565 USD มากกว่าเกาหลีใต้ 904 USD เป็นการขึ้นนำเกาหลีใต้ครั้งแรกในรอบ 20 ปี โดยมีปัจจัยหลักมาจากค่าเงินวอนที่อ่อนค่ามากกว่าเงินดอลลาร์ไต้หวัน เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ กอปรกับในช่วงการระบาดของโควิด-19 การส่งออกของไต้หวันโดยเฉพาะอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์เติบโตดีกว่า โดยไต้หวันครองตลาดชิปที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ขณะที่ชิปของเกาหลีใต้เน้นออกแบบเพื่อสินค้า consumer electronics ซึ่งมีอุปสงค์ลดลงและเผชิญกับการแข่งขันที่สูงขึ้นจากจีน

1.2 มูลค่าการค้า กระทรวงการคลังไต้หวัน รายงานว่า ในไตรมาสที่ 1 ปี 2566 ปริมาณการส่งออก มีมูลค่ารวม 97,752 ล้าน USD ลดลงร้อยละ 19.2 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2565 ในขณะที่ปริมาณการนำเข้ามีมูลค่ารวม 88,839 ล้าน USD ลดลงร้อยละ 15.8 ส่งผลให้ไต้หวันได้เปรียบดุลการค้าเป็นมูลค่า 8,913 ล้าน USD ลดลงร้อยละ 42.3

1.3 สถานการณ์เงินเฟ้อ ข้อมูลจากสำนักสถิติฯ ไต้หวัน ระบุว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ในไตรมาสที่ 1 ปี 2566 ปรับตัวขึ้นร้อยละ 2.62 ขณะที่เมื่อวันที่ 23 มี.ค. 2566 ธนาคารกลางไต้หวันประกาศปรับเพิ่มตัวเลขคาดการณ์ CPI ของไต้หวันในปี 2566 ขึ้นไปอยู่ที่ร้อยละ 2.09 โดยมีปัจจัยหลักมาจากราคาอาหารที่ปรับตัวสูงขึ้นจากการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดนกทั่วโลก ค่าใช้จ่ายในด้านการบันเทิงและการบริการที่ปรับตัวสูงขึ้นตามอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นในยุคหลังโควิด-19 และการปรับขึ้นอัตราค่าไฟฟ้าตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 2566 ขณะเดียวกัน ธนาคารกลางไต้หวันได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยขึ้น 12.5 basis points (bps) เป็นร้อยละ 1.875 เพื่อรับมือกับสถานการณ์เงินเฟ้อและสร้างเสถียรภาพให้กับตลาดการเงิน โดยเป็นการปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นติดต่อกันเป็นไตรมาสที่ 5

1.4 การลงทุน เมื่อวันที่ 22 ก.พ. 2566 สำนักสถิติฯ ไต้หวัน รายงานว่า ปัจจัยสำคัญที่ช่วยหนุนการลงทุนของไต้หวันในปี 2566 ได้แก่ (1) การลงทุนอย่างต่อเนื่องของอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ (2) บริษัทไต้หวันในต่างประเทศที่ย้ายกลับมาลงทุนในไต้หวัน (3) การลงทุนด้านพลังงานลมนอกชายฝั่ง และ (4) การขยายเที่ยวบินของสายการบินเพื่อรองรับการท่องเที่ยวระหว่างประเทศที่ขยายตัวขึ้น อย่างไรก็ตาม สำนักสถิติฯ ไต้หวัน คาดว่า ในปี 2566 การลงทุนภาคเอกชนน่าจะขยายตัวลดลงร้อยละ 1.13 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า เนื่องจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกที่ทำให้ผู้ประกอบการไต้หวันต้องระมัดระวังในการขยายการลงทุน

1.5 สถานการณ์การจ้างงาน อัตราการว่างงานเฉลี่ยระหว่างเดือน ม.ค.-ก.พ. 2566 คิดเป็นร้อยละ 3.52 โดยมีผู้ว่างงานทั้งสิ้น 418,000 คน ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 3.24 และถือเป็นอัตราการว่างงานที่ต่ำสุดในรอบ 22 ปี ในขณะที่มีการจ้างงานทั้งสิ้น 11,478,000 ตำแหน่ง เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 0.10 ตลาดการจ้างงานที่มีเสถียรภาพในช่วงไตรมาสแรกสะท้อนให้เห็นว่าผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 บรรเทาลง ส่งผลให้การลดขนาดหรือปิดกิจการลดลงไปด้วย กอปรกับปัจจัยตามฤดูกาลจากเทศกาลตรุษจีนที่กระตุ้นให้มีความต้องการแรงงานเพิ่มขึ้น

  1. การดำเนินนโยบายสำคัญของรัฐบาล

2.1 การลดหย่อนภาษีสำหรับบริษัทด้านนวัตกรรม

เมื่อวันที่ 7 ม.ค. 2566 สภานิติบัญญัติไต้หวันผ่านร่างแก้ไขกฎหมายนวัตกรรมอุตสาหกรรม ซึ่งกำหนดว่าบริษัทที่ดำเนินงานคิดค้นเทคโนโลยีในไต้หวัน และมีบทบาทสำคัญในห่วงโซ่อุปทานระหว่างประเทศจะได้รับการลดหย่อนภาษีเท่ากับร้อยละ 25 ของค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนา และร้อยละ 5 ของค่าใช้จ่ายในการซื้ออุปกรณ์ใหม่สำหรับ “กระบวนการขั้นสูง” แต่ยอดลดหย่อนภาษีทั้งหมดต้องไม่เกินร้อยละ 50 ของภาษีเงินได้ในปีงบประมาณนั้น แม้ว่าบทบัญญัติจะไม่ได้จำกัดประเภทอุตสาหกรรม แต่หลายฝ่ายมองว่า นโยบายดังกล่าวเป็นการให้ incentive แก่บริษัทเซมิคอนดักเตอร์ 5G และยานยนต์ไฟฟ้าในการยกระดับด้านการวิจัยและพัฒนา ทั้งนี้ สิทธิประโยชน์ทางภาษีที่กำหนดในกฎหมายดังกล่าวจะมีผลสิ้นสุดในวันที่ 31 ธ.ค. 2572

2.2 มาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังการระบาดของโควิด-19

เมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2566 สภานิติบัญญัติไต้หวันอนุมัติแผนเบิกจ่ายงบประมาณราว 3.8 แสนล้าน TWD จากเงินภาษีที่จัดเก็บได้เกินเป้าหมายในปี 2565 เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจหลังการระบาดของโรคโควิด-19 โดยมีผลตั้งแต่ปี 2566-2568 ประกอบด้วยงบประมาณ 1.42 แสนล้าน TWD สำหรับการแจกเงินสดให้ประชาชนคนละ 6,000 TWD และงบประมาณเพื่อบริการและสวัสดิการสาธารณะ ได้แก่ กองทุนประกันภัยแรงงาน (3 หมื่นล้าน TWD) กองทุนประกันสุขภาพแห่งชาติ (2 หมื่นล้าน TWD) บ. Taiwan Power (5 หมื่นล้าน TWD) เงินอุดหนุนธุรกิจ SMEs และภาคการผลิต (3.17 หมื่นล้าน TWD) การให้ความช่วยเหลือทางการเงินสำหรับกลุ่มผู้ด้อยโอกาส (1.03 หมื่นล้าน TWD) เงินอุดหนุนค่าโดยสารสาธารณะและ incentive สำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ (2.74 หมื่นล้าน TWD) เป็นต้น คาดว่า มาตรการแจกเงินสดและโครงการที่เสนอโดยหน่วยงานต่าง ๆ จะช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายภายใน และมีส่วนช่วยในการเติบโตทางเศรษฐกิจของไต้หวันปี 2566 อย่างน้อยร้อยละ 0.45 จุด

สำหรับแผนของกรมการท่องเที่ยวไต้หวันในการแจกบัตรเงินสดมูลค่า 5,000 TWD จำนวน 5 แสนใบแก่นักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาท่องเที่ยวแบบอิสระจะเริ่มขึ้นในวันที่ 15 เม.ย. 2566 โดยสามารถใช้บัตรดังกล่าวสำหรับการซื้อของ การรับประทานอาหาร ที่พัก และการเดินทาง นอกจากนี้ ยังมีแผนให้เงินรางวัลแก่บริษัททัวร์จำนวน 10,000 TWD สำหรับกลุ่มทัวร์ 8 คนขึ้นไป และ 20,000 TWD สำหรับกลุ่มทัวร์ 15 คนขึ้นไป รวม 90,000 กลุ่ม โดยคาดว่าจะช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติให้ได้ตามเป้าหมาย 6 ล้านคนในปีนี้

  1. คสพ. ทางเศรษฐกิจไต้หวัน-ไทย

3.1 ด้านการค้า ข้อมูลจากกรมการค้าต่างประเทศไต้หวัน ระบุว่า ในไตรมาสที่ 1/2566 การค้าระหว่างไต้หวันและไทยมีมูลค่ารวม 3,068.93 ล้าน USD แบ่งเป็นมูลค่าการส่งออกรวมจากไต้หวันไปยังไทย 1,756.30 ล้าน USD และมูลค่าการนำเข้ารวมจากไทยมายังไต้หวัน 1,312.63 ล้าน USD โดยไทยเป็นคู่ค้าลำดับที่ 12 ของไต้หวัน สินค้าส่งออกจากไทยมาไต้หวัน 3 อันแรก ได้แก่ (1) เครื่องจักรและอุปกรณ์ไฟฟ้า (698.66 ล้าน USD) (2) อาหารปรุงสำเร็จ เครื่องดื่ม สุรา น้ำส้มสายชู และยาสูบ (92.38 ล้าน USD) (3) พลาสติกและยาง (81.97 ล้านUSD) ขณะที่สินค้านำเข้าจากไต้หวันมายังไทย 3 อันดับแรก ได้แก่ (1) เครื่องจักรและอุปกรณ์ไฟฟ้า (959.05 ล้าน USD) (2) แร่โลหะ (286.84 ล้าน USD) (3) พลาสติกและยาง (136.36 ล้าน USD)

3.2 ด้านแรงงาน ข้อมูลจากกระทรวงแรงงานไต้หวันระบุว่า ในเดือน ก.พ. 2566 มีจำนวนแรงงานไทยในไต้หวันทั้งสิ้น 67,943 คน คิดเป็นร้อยละ 9.30 ของแรงงานต่างชาติทั้งหมดในไต้หวัน ทั้งนี้ จำนวนแรงงานไทยเพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2565 ร้อยละ 19.09

3.3 ด้านการท่องเที่ยว ข้อมูลจากกรมการท่องเที่ยวไต้หวันระบุว่า ในเดือน ม.ค.-ก.พ. 2566 มีนักท่องเที่ยวไต้หวันเดินทางไปไทย จำนวน 101,867 คน เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2565 เป็นจำนวน 45.70 เท่า (ปีก่อนหน้ามีจำนวน 2,229 คน) ในขณะที่มีนักท่องเที่ยวจากไทยมาไต้หวัน จำนวน 45,401 คน เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2565 เป็นจำนวน 40.28 เท่า (ปีก่อนหน้ามีจำนวน 1,127 คน)

3.4 ด้านการลงทุน ข้อมูลจากคณะกรรมการพิจารณาการลงทุนไต้หวันระบุว่า ในช่วงเดือน ม.ค.-ก.พ. 2566 มีโครงการลงทุนจากไต้หวันในไทย 1 โครงการ (เท่ากับปีก่อนหน้า) คิดเป็นมูลค่าเงินลงทุน 20.27 ล้าน USD (ลดลงร้อยละ 8.56) โดยเป็นการลงทุนในด้านการผลิตคอมพิวเตอร์ ผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์และออปติก และการผลิตอุปกรณ์ไฟฟ้า ขณะที่มีโครงการลงทุนจากไทยมายังไต้หวัน 1 โครงการ[1] (ลดลงร้อยละ 85.71) คิดเป็นมูลค่าเงินลงทุน 21.30 ล้าน USD (ลดลงร้อยละ 43.53) โดยเป็นการลงทุนในด้านบริการทางวิชาชีพ วิทยาศาสตร์ และทางเทคนิค

[1] บริษัท Prime Road Group Company Limited ซึ่งมาลงทุนในบริษัท Prime Solar Energy Corporation

ADVERTISEMENTLittle Thai Alley