สถานการณ์เศรษฐกิจในไต้หวัน ประจำไตรมาสที่ 2/2566

สถานการณ์เศรษฐกิจในไต้หวัน ประจำไตรมาสที่ 2/2566

วันที่นำเข้าข้อมูล 2 ส.ค. 2566

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 12 ธ.ค. 2566

| 3,926 view
econupdatelogo
  1. ภาพรวมเศรษฐกิจไต้หวัน

1.1 อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ

เมื่อวันที่ 26 พ.ค. 2566 สำนักสถิติและบัญชีกลางไต้หวันประกาศปรับลดตัวเลขคาดการณ์ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของไต้หวันในปี 2566 ลงมาอยู่ที่ร้อยละ 2.04 จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 2.12 เมื่อเดือน ก.พ. 2566 ซึ่งเป็นการขยายตัวของ GDP ที่ต่ำสุดในรอบ 8 ปีมีปัจจัยสำคัญจากอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นและการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของรัฐบาลไต้หวันรวมถึงสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครนที่ยังคงส่งผลกระทบต่ออุปสงค์โลก

รัฐบาลไต้หวันใช้นโยบายการคลังแบบขยายตัว (Expansionary Fiscal Policy) ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยมีแผนลงทุนในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในปี 2566 กว่า 6.8 แสนล้านดอลลาร์ไต้หวัน ทั้งนี้ คณะกรรมการเพื่อการพัฒนาแห่งชาติไต้หวันคาดว่า เศรษฐกิจไต้หวันอาจฟื้นตัวในไตรมาสที่ 4 เมื่อระดับสินค้าคงคลังในห่วงโซ่อุปทานโลกกลับสู่ภาวะปกติแล้ว

1.2 มูลค่าการค้า กระทรวงการคลังไต้หวันระบุว่า ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2566 ไต้หวันมีปริมาณการส่งออกรวม 104,405 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงร้อยละ 16.97 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2565 ขณะที่ปริมาณการนำเข้ามีมูลค่ารวม 86,857 ล้านดอลลาร์สหรัฐลดลงร้อยละ 23.67 ทำให้ไต้หวันได้เปรียบดุลการค้าเป็นมูลค่า 17,549 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 46.83 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2565

1.3 สถานการณ์เงินเฟ้อ ข้อมูลจากสำนักสถิติฯ ไต้หวัน ระบุว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2566 ปรับตัวขึ้นร้อยละ 2.04 ขณะที่ธนาคารกลางไต้หวันประกาศปรับเพิ่มตัวเลขคาดการณ์ CPI ของไต้หวันในปี 2566 อยู่ที่ร้อยละ 2.24 ซึ่งเกินกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ที่ร้อยละ 2 แม้ว่าราคาวัตถุดิบมีแนวโน้มลดลงส่งผลให้ราคาสินค้านำเข้าลดลงไปด้วย อย่างไรก็ดี คาดว่าค่าใช้จ่ายด้านการบันเทิงและการบริการจะปรับตัวสูงขึ้น กอปรกับราคาสินค้าหมวดอาหารและการบริโภคนอกบ้านจะยังคงทรงตัวในระดับสูง และเป็นแรงผลักให้อัตราเงินเฟ้อในปี 2566 มีแนวโน้มสูงขึ้น

ทั้งนี้ ในการประชุมกำหนดนโยบายประจำไตรมาสเมื่อวันที่ 15 มิ.ย. 2566 ธนาคารกลางไต้หวันมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 1.875 ซึ่งเป็นไปตามที่หลายฝ่ายคาดการณ์ หลังจากธนาคารกลางสหรัฐฯ ประกาศไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย

1.4 การลงทุน เมื่อวันที่ 26 พ.ค. 2566 สำนักสถิติฯ ไต้หวัน รายงานว่า ปัจจัยสำคัญที่ช่วยหนุนการลงทุนของไต้หวันในปี 2566 ได้แก่ (1) การลงทุนอย่างต่อเนื่องของอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ (2) บริษัทไต้หวันในต่างประเทศที่ย้ายกลับมาลงทุนในไต้หวัน (3) การลงทุนด้านพลังงานลมนอกชายฝั่ง และ (4) การขยายเที่ยวบินของสายการบินเพื่อรองรับการท่องเที่ยวระหว่างประเทศที่ขยายตัวขึ้น อย่างไรก็ตามสำนักสถิติฯ ไต้หวัน คาดว่า ในปี 2566 การลงทุนภาคเอกชนน่าจะขยายตัวลดลงร้อยละ 2.49 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า เนื่องจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกที่ทำให้ผู้ประกอบการไต้หวันต้องระมัดระวังในการขยายการลงทุน

1.5 สถานการณ์การจ้างงาน อัตราการว่างงานเฉลี่ยระหว่างเดือน เม.ย.-มิ.ย. 2566 คิดเป็นร้อยละ 3.48 โดยมีผู้ว่างงานทั้งสิ้น 415,000 คน ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 4.5 ขณะที่มีการจ้างงานทั้งสิ้น 11,510,000 ตำแหน่ง เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 1.09 ทั้งนี้ ผู้ว่างงานจากธุรกิจที่ลดขนาดหรือปิดกิจการมีอัตราลดลง ซึ่งมีสาเหตุหลักจากการบริโภคในภาคบริการที่เพิ่มขึ้นหลังการระบาดของโควิด-19 แม้ว่าอัตราการว่างงานในเดือน พ.ค. ลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 แต่กลับเพิ่มขึ้นมาเล็กน้อยในเดือน มิ.ย. เนื่องจากมีบัณฑิตจบใหม่เริ่มเข้าสู่ตลาดแรงงาน

  1. การประกาศนโยบายของรัฐบาลไต้หวันในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2566

2.1 การสนับสนุนนโยบาย Net Zero Emission 2050

เมื่อวันที่ 22 เม.ย. 2566 ทบวงอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมประกาศว่าจะเริ่มเก็บค่าธรรมเนียมคาร์บอนจากบริษัทที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปี 2567 โดยอยู่ในความรับผิดชอบของสำนักงานการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ซึ่งจะทำหน้าที่ติดตามการทำงานของหน่วยงานรัฐต่าง ๆ เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย Net Zero Emission ภายในปี ค.ศ. 2050 รวมถึงช่วยบริษัทไต้หวันในการรับมือกับมาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป (Carbon Border Adjustment Mechanism: CBAM) ซึ่งเป็นการเรียกเก็บภาษีจากผลิตภัณฑ์คาร์บอนสูงที่ส่งออกไป EU ตั้งแต่ต้นปี 2569 นอกจากนี้สภานิติบัญญัติแก้ไขกฎหมายขยายระเวลาลดภาษีหากซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าประหยัดพลังงานออกไปอีก 2 ปี จนถึงวันที่ 14 มิ.ย. 2568 เพื่อส่งเสริมการพัฒนาด้านอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์สนับสนุนการประหยัดพลังงานและลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน

เมื่อวันที่ 1 มิ.ย. 2566 ครม.ไต้หวันอนุมัติแผนของกระทรวงคมนาคมในการเปลี่ยนรถโดยสารสาธารณะจากที่ใช้เชื้อเพลิงดีเซลเป็นพลังงานไฟฟ้าทั้งหมดภายในปี 2573 ด้วยงบประมาณราว 6.43 หมื่นล้านดอลลาร์ไต้หวัน เพื่อสนับสนุนการดำเนินการของนโยบาย Net Zero Emission 2050 ให้บรรลุเป้าหมาย

2.2 การส่งเสริมการจ้างงานและแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงาน

เมื่อวันที่ 27 เม.ย. 2566 ครม. ไต้หวันประกาศจะจัดสรรงบประมาณราว 1 พันล้านดอลลาร์ไต้หวัน สำหรับการดำเนินการตามแผนเพื่อจัดหาแรงงานที่ขาดแคลนโดยมีเป้าหมายจ้างแรงงาน 20,000 คน ตลอดระยะเวลา 1 ปี ในภาคการท่องเที่ยว การบริการ การขนส่ง และการเกษตร ซึ่งประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานเนื่องจากฐานเงินเดือนต่ำ สถานที่ทำงานห่างไกล หรือสภาพแวดล้อมการทำงานที่ไม่เอื้ออำนวยโดยจะจ่ายเงินสมทบให้แก่แรงงานโดยตรงหรือให้แก่นายจ้างนอกจากนี้ยังมีนโยบายให้เงินอุดหนุนแก่บริษัทที่มีการพัฒนาทรัพยากรบุคคลและยกระดับอุปกรณ์เครื่องจักรเพื่อปรับปรุงสภาพแวดล้อมการทำงานให้ดีขึ้นด้วย

เมื่อวันที่ 4 พ.ค. 2566 ครม. ไต้หวันอนุมัติแผนการจ้างงานเยาวชนระยะที่ 2 (ตั้งแต่เดือน พ.ค. 2566-ปี 2569) ด้วยงบประมาณ 1.6 หมื่นล้าน TWD โดยมีเป้าหมายในการช่วยคนที่มีอายุตั้งแต่ 15-29 ปี จำนวน 800,000 คน ให้ได้รับโอกาสการจ้างงานในภาคส่วนที่ขาดแคลนแรงงาน นอกจากนี้จะจัดการแนะแนวทางอาชีพขึ้นที่สถานศึกษาสำหรับนักเรียนชั้นปีสุดท้าย อีกทั้งยังมีการสอนงานเพื่อพัฒนาทักษะทางอาชีพให้ชำนาญมากยิ่งขึ้น

2.3 การปรับขึ้นอัตราเงินเดือนข้าราชการ

เมื่อวันที่ 1 มิ.ย. 2566 สภาบริหารไต้หวันอนุมัติปรับเงินเดือนข้าราชการ ครู และทหารขึ้นร้อยละ 4 โดยมีผลบังคับใช้ต้นปี 2567 คาดว่าจะต้องใช้เงินภาษีจำนวน 2.8 หมื่นล้าน TWD และมีผู้รับผลประโยชน์ 730,000 คน ทั้งนี้เพื่อบรรเทาผลกระทบจากภาวะเงินเฟ้อ และให้สอดคล้องกับการปรับขึ้นเงินเดือนของภาคเอกชนและค่าแรงขั้นต่ำก่อนหน้านี้

2.4 การขยายอุตสาหกรรมร้านอาหารและเครื่องดื่มจากไต้หวันมายังไทย

กระทรวงเศรษฐการไต้หวันมีแผนให้ความช่วยเหลือธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่มของไต้หวันในการขยายตลาดมายังไทย เกาหลีใต้ และสหรัฐอเมริกาภายหลังการระบาดของโควิด-19 โดยจะพาบริษัทไต้หวันมาที่ไทยเป็นแห่งแรกในเดือน ก.ค. 2566 เพื่อร่วมงานแสดงสินค้า (Thailand Franchise & Business Opportunity, TFBO 2023) และพบคู่ค้า ลูกค้า รวมถึงนักลงทุนที่หลากหลายในอาเซียน รวมถึงประเทศเป้าหมายตามนโยบายมุ่งใต้ใหม่ (New Southbound Policy)

  1. สถานการณ์เศรษฐกิจระหว่างไต้หวัน-ไทย

3.1 ด้านการค้า ข้อมูลจากกรมการค้าต่างประเทศไต้หวัน ระบุว่า ในไตรมาสที่ 2 ปี 2566 การค้าระหว่างไต้หวันกับไทยมีมูลค่ารวม 3,945.13 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยเป็นคู่ค้าลำดับที่ 12 ของไต้หวัน โดยมีมูลค่าการส่งออกรวมจากไต้หวันไปยังไทย 2,596.69 ล้านดอลลาร์สหรัฐขณะที่มูลค่าการนำเข้ารวมจากไทยมายังไต้หวัน 1,348.44 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยสินค้านำเข้าจากไทยมาไต้หวัน 3 อันแรก ได้แก่ (1) เครื่องจักรและอุปกรณ์ไฟฟ้า (673.05 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) (2) อาหารปรุงสำเร็จ เครื่องดื่ม สุรา น้ำส้มสายชู และยาสูบ (126.63 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) และ (3) เคมีภัณฑ์ (82.75 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ขณะที่สินค้าส่งออกจากไต้หวันไปยังไทย 3 อันดับแรก ได้แก่ (1) เครื่องจักรและอุปกรณ์ไฟฟ้า (1,820.16 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) (2) แร่โลหะ (264.19 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) และ (3) เคมีภัณฑ์ (131.01 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)

3.2 ด้านแรงงาน กระทรวงแรงงานไต้หวัน ระบุว่า ในเดือน มิ.ย. 2566 มีจำนวนแรงงานไทยในไต้หวันทั้งสิ้น 68,318 คนคิดเป็นร้อยละ 9.24 ของแรงงานต่างชาติทั้งหมดในไต้หวัน จำนวนแรงงานไทยเพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2565 ร้อยละ 7.60

3.3 ด้านการท่องเที่ยว กรมการท่องเที่ยวไต้หวัน ระบุว่า ในเดือน เม.ย.-พ.ค. 2566 มีนักท่องเที่ยวไต้หวันเดินทางไปไทย จำนวน 113,717 คน เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2565 เป็นจำนวน 34.17 เท่า (ช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้ามีจำนวน 3,328 คน) ขณะที่มีนักท่องเที่ยวจากไทยมาไต้หวัน จำนวน 80,804 คน เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2565 เป็นจำนวน 14.83 เท่า (ช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้ามีจำนวน 5,450 คน)

3.4 ด้านการลงทุน คณะกรรมการพิจารณาการลงทุนไต้หวัน ระบุว่า ในช่วงเดือน ม.ค.- มิ.ย. 2566 มีโครงการลงทุนจากไต้หวันในไทย 18 โครงการ (เพิ่มขึ้นร้อยละ 200) คิดเป็นมูลค่าเงินลงทุน 90.76 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.63) อุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเงินลงทุนสูงสุด ได้แก่ (1) การผลิตอุปกรณ์ไฟฟ้า (20.27 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) (2) การค้าส่งและค้าปลีก (18.10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) (3) การผลิตผลิตภัณฑ์แร่อโลหะ (14.71 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ขณะที่มีโครงการลงทุนจากไทยมายังไต้หวัน 10 โครงการ (ลดลงร้อยละ 16.67) คิดเป็นมูลค่าเงินลงทุน 74.49 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (เพิ่มขึ้นร้อยละ 63.99) อุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเงินลงทุนสูงสุด ได้แก่ (1) ด้านบริการทางวิชาชีพ วิทยาศาสตร์ และทางเทคนิค (51.74 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) (2) การค้าส่งและค้าปลีก (23.50 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) และ (3) การผลิตอุปกรณ์ขนส่งอื่น ๆ (9.09 แสนดอลลาร์สหรัฐ)

  1. ข้อมูลและข้อสังเกตเพิ่มเติม

4.1 เมื่อวันที่ 20 มิ.ย. 2566 IMD (International Institute for Management Development) รายงานผลการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของ 64 ประเทศและเขตเศรษฐกิจทั่วโลก ประจำปี 2566 โดยไต้หวันได้อันดับ 6 ปรับตัวสูงขึ้น 1 อันดับจากปีก่อนหน้า และเป็นอันดับ 2 ของเอเชียรองจากสิงคโปร์ ทั้งนี้ตัวชี้วัดสำคัญในการจัดอันดับ ได้แก่ ปัจจัยด้านประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ (ไต้หวันเป็นอันดับ 4) ปัจจัยด้านประสิทธิภาพของภาครัฐ (ไต้หวันเป็นอันดับ 6) ปัจจัยด้านโครงสร้างพื้นฐาน (ไต้หวันเป็นอันดับ 12) ทว่า ปัจจัยด้านสมรรถนะทางเศรษฐกิจของไต้หวันถูกปรับอันดับลดลงถึง 9 อันดับ มาอยู่ที่อันดับ 20 โดยมีสาเหตุมาจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง กอปรกับคะแนนเฉลี่ยของไต้หวันในปี 2565 มีฐานที่ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับประเทศอื่น อย่างไรก็ดี ปัจจัยย่อยด้านตลาดแรงงานถือเป็นจุดอ่อนสำคัญของรัฐบาลไต้หวัน ซึ่งต้องมีการปรับปรุงโดยเน้นการดึงดูดแรงงานต่างชาติให้อยู่ทำงานในไต้หวันมากยิ่งขึ้น

4.2 นักลงทุนไทยยังคงมีการลงทุนในไต้หวันอย่างต่อเนื่อง โดยโครงการที่มีสัดส่วนการลงทุนจากไทยมากที่สุดยังคงเป็นสาขาพลังงานและกิจการที่เกี่ยวข้องกับพลังงาน ได้แก่ (1) บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด ซึ่งลงทุนร่วมกับ EGAT ในบริษัท Hou Ju Energy Technology Corporation โดยเป็นการเพิ่มทุนมูลค่า 32 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และ (2) กลุ่มบริษัทไพร์ม โรด กรุ๊ป ซึ่งเข้ามาลงทุนในบริษัท ไพร์ม โซลาร์ เอ็นเนอร์ยี่ คอร์ปปอเรชั่น จำกัด โดยเป็นการเพิ่มทุนมูลค่า 22 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ยังมีการลงทุนอุปกรณ์คอมพิวเตอร์และซอฟต์แวร์จากบริษัท แคล-คอมพ์ อีเล็คโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ซึ่งเข้ามาลงทุนในบริษัท XYZ printing, Inc. บริษัทออกแบบและผลิตเครื่องพิมพ์สามมิติ โดยเป็นการเพิ่มทุนมูลค่า 23 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ADVERTISEMENTLittle Thai Alley