สถานการณ์เศรษฐกิจในไต้หวัน ประจำปี 2565

สถานการณ์เศรษฐกิจในไต้หวัน ประจำปี 2565

วันที่นำเข้าข้อมูล 30 ม.ค. 2566

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 12 ธ.ค. 2566

| 4,104 view
econupdatelogo
  1. ภาพรวมเศรษฐกิจไต้หวันปี 2565
    1.1 อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ
          เมื่อวันที่ 15 ธ.ค. 2565 ธนาคารกลางไต้หวันประกาศปรับลดตัวเลขคาดการณ์ผลิตภัณฑ์  มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของไต้หวันในปี 2565 ลงมาอยู่ที่ร้อยละ 2.91 จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 3.51 โดยมีสาเหตุหลักมาจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง ซึ่งส่งผลกระทบต่อการส่งออกและการลงทุนภาคเอกชนของไต้หวัน เช่นเดียวกับการประเมินของสำนักงบประมาณ การบัญชี และสถิติ (Directorate General of Budget, Accounting and Statistics) ของไต้หวันที่คาดการณ์ว่า Real GDP ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2565 จะเติบโตที่ร้อยละ 3.06 ลดลงจากการคาดการณ์ครั้งก่อนหน้าร้อยละ 0.7 
         กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์ว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศต่อหัว (GDP per Capita) ของไต้หวันในปี 2565 จะปรับตัวขึ้นไปที่ 35,510 USD ซึ่งมากกว่าญี่ปุ่น (34,360 USD) เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ และมากกว่าเกาหลีใต้ (33,590 USD) เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2546 โดยคณะกรรมการเพื่อการพัฒนาแห่งชาติ (National Development Council: NDC) ของไต้หวัน มองว่า มีปัจจัยหลักจากพื้นฐานความเข้มแข็งของเศรษฐกิจไต้หวันต่อสถานการณ์เศรษฐกิจระหว่างประเทศ โดยไต้หวันมีการเติบโตทางเศรษฐกิจต่อเนื่องท่ามกลางการระบาดของโควิด-19 ตลอดจนอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างดอลลาร์ไต้หวันกับดอลลาร์สหรัฐฯ ก็มีเสถียรภาพมากกว่าเงินเยนและเงินวอน
    1.2 มูลค่าการค้า เมื่อวันที่ 7 ม.ค. 2566 กระทรวงการคลังไต้หวัน รายงานว่า ปริมาณการส่งออกของปี 2565 ทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยมีมูลค่ารวม 479,522 ล้าน USD เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.4 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2564 นำโดยการส่งออกเซมิคอนดักเตอร์มูลค่ารวม 184,140 ล้าน USD เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.4 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2564 ในขณะที่ปริมาณการนำเข้าในปี 2565 มีมูลค่ารวม 427,600 ล้าน USD เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.9 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2564 ส่งผลให้ไต้หวันได้เปรียบดุลการค้าเป็นมูลค่า 51,922 ล้าน USD ลดลงจากปี 2564 ร้อยละ 19.4
    1.3 สถานการณ์เงินเฟ้อ เมื่อวันที่ 6 ม.ค. 2566 สำนักงบประมาณฯ ไต้หวัน ประกาศว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ในปี 2565 ปรับตัวขึ้นร้อยละ 2.95 ซึ่งสูงสุดในรอบ 14 ปี และเกินกว่าระดับเฝ้าระวังที่ธนาคารกลางไต้หวันกำหนดไว้ที่ร้อยละ 2 โดยมีสาเหตุหลักมาจากราคาอาหาร ค่าเช่า และเชื้อเพลิงที่ปรับตัวสูงขึ้น ทั้งนี้ เพื่อแก้ไขสถานการณ์เงินเฟ้อ ธนาคารกลางไต้หวันได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ติดต่อกัน 4 ไตรมาส นับตั้งแต่เดือน มี.ค. 2565 รวมปรับขึ้น 62.5 basis points ควบคู่ไปกับการปรับเพิ่มอัตราเงินสดสำรองตามกฎหมาย (Required Reserve Ratio) 25 basis points ติดต่อกัน 2 ไตรมาส เพื่อลดระดับสภาพคล่อง
    1.4 การลงทุน เมื่อวันที่ 5 ธ.ค. 2565 สำนักงบประมาณฯ ไต้หวัน รายงานว่า ปัจจัยสำคัญที่ช่วยหนุนการลงทุนของไต้หวัน ได้แก่ (1) อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ที่กระตุ้นการลงทุนของธุรกิจปลายน้ำจำนวนมาก (2) การย้ายฐานการผลิตจากจีนมายังไต้หวัน และ (3) การผลักดันของรัฐบาลในการพัฒนาพลังงานหมุนเวียน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานลมนอกชายฝั่ง อีกทั้งคาดการณ์ว่าอัตราการลงทุนหรือสัดส่วนการสะสมทุนต่อ GDP ของไต้หวันในปี 2565 จะอยู่ที่ร้อยละ 27.82 ซึ่งสูงสุดในรอบ 27 ปี สำหรับการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในช่วงเดือน ม.ค.-พ.ย. 2565 มีโครงการลงทุนที่ได้รับอนุมัติ 2,307 โครงการ ลดลงร้อยละ 5.76 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี2564 คิดเป็นมูลค่าเงินลงทุน 12,410 ล้าน USD เพิ่มขึ้นร้อยละ 84.71 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2564 การลงทุนจากประเทศเป้าหมายตามนโยบายมุ่งใต้ใหม่มีมูลค่ารวม 2,014 ล้าน USD เพิ่มขึ้นร้อยละ 109.42 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2564 โดยส่วนใหญ่เป็นการลงทุนจากออสเตรเลีย สิงคโปร์ และไทย
    1.5 สถานการณ์การจ้างงาน อัตราการว่างงานเพิ่มสูงขึ้นในเดือน มิ.ย.-ส.ค. 2565 โดยมีปัจจัยตามฤดูกาลจากการที่บัณฑิตจบใหม่เป็นผู้ว่างงานที่เพิ่งหางานทำเป็นครั้งแรก ทว่าปรับตัวดีขึ้นตั้งแต่เดือน ก.ย. 2565 จนอยู่ในระดับปกติที่ร้อยละ 3.61 ในเดือน พ.ย. 2565 ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงตลาดการจ้างงานที่กลับมามีเสถียรภาพ ทั้งนี้  การจ้างงานในอุตสาหกรรมการบริการฟื้นตัวขึ้นอย่างมากหลังได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 ตั้งแต่เดือน พ.ค. 2565 อย่างไรก็ดี เนื่องจากเศรษฐกิจโลกและการส่งออกของไต้หวันมีแนวโน้มชะลอตัวลง จึงจำเป็นต้อง  เฝ้าระวังสถานการณ์ตลาดแรงงานในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า 

  2. การดำเนินนโยบายสำคัญของรัฐบาล
    2.1 มาตรการบรรเทาผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19
         เมื่อวันที่ 27 พ.ค. 2565 สภานิติบัญญัติไต้หวันอนุมัติขยายระยะเวลาบังคับใช้กฎหมายพิเศษว่าด้วยการบรรเทาผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 รวมถึงงบประมาณที่เกี่ยวข้องไปจนถึงวันที่ 30 มิ.ย. 2566 นอกจากนี้ รัฐบาลได้ประกาศใช้ 3 มาตรการหลักในการช่วยเหลือธุรกิจและประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ดังนี้
          2.1.1 การช่วยเหลือภาคอุตสาหกรรมและแรงงาน โดยให้เงินอุดหนุนอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบ เช่น อาหารและเครื่องดื่ม การบริการ การคมนาคม และการท่องเที่ยว รวมถึงขยายเวลาโครงการบรรเทาผลกระทบสำหรับแรงงานที่ต้องหยุดงานโดยไม่ได้รับค่าจ้าง แรงงานระยะสั้น และผู้ว่างงานไปจนถึงสิ้นเดือน มิ.ย. 2566
          2.1.2 การลดภาระ โดยขยายเวลาลดค่าเช่าและค่าสิทธิสำหรับอสังหาริมทรัพย์ของรัฐที่มิได้ใช้เพื่อสาธารณประโยชน์ลงร้อยละ 20 และยกเว้นหรือลดภาษีสำหรับวัตถุดิบหลัก
          2.1.3 การรักษาเสถียรภาพของกระแสเงินสด โดยขยายเวลาให้สินเชื่อสำหรับธุรกิจ SMEs และธุรกิจที่ไม่ใช่ SMEs ที่ได้รับผลกระทบ อุดหนุนดอกเบี้ยเงินกู้สำหรับธุรกิจการท่องเที่ยว บริษัทด้านศิลปวัฒนธรรมขนาดใหญ่ และกลุ่มศิลปะการแสดง รวมถึงขยายเวลาการยื่นขอเลื่อนชำระหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลเป็นเวลา 3-6 เดือน จนถึงสิ้นเดือน มิ.ย. 2566   
    2.2 มาตรการรับมือกับการที่จีนระงับนำเข้าสินค้าไต้หวัน
          ในปี 2565 จีนยังคงระงับการนำเข้าสินค้าจากไต้หวันอย่างต่อเนื่อง อาทิ ผลิตภัณฑ์อาหารทะเล ผลไม้ตระกูลส้ม และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อช่วยเหลือธุรกิจอาหารที่ได้รับผลกระทบ กระทรวงเศรษฐการไต้หวันได้ดำเนินโครงการ Taiwan Global Food Initiative มูลค่า 200 ล้านดอลลาร์ไต้หวัน ตั้งแต่เดือน ส.ค.-ธ.ค. 2565 โดยใช้กลยุทธ์หลัก 3 ประการ ได้แก่ การขยายตลาดภายในและต่างประเทศ การส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขัน และการสนับสนุนทางการเงิน นอกจากนี้ สภาบริหารไต้หวันได้สั่งการให้หน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องดำเนินแผนลดการพึ่งพาการส่งออกไปยังตลาดใดตลาดหนึ่ง โดยคณะกรรมการกิจการการเกษตร (Council of Agriculture: COA) ไต้หวันรับผิดชอบการช่วยเหลือผู้ผลิตผลิตภัณฑ์อาหารทะเล และกระทรวงการคลังไต้หวันให้ความช่วยเหลืออุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทั้งนี้ ในปี 2565 สหรัฐฯ และญี่ปุ่นได้กลายเป็นจุดหมายหลักสำหรับสินค้าเกษตรของไต้หวันแทนจีน แสดงให้เห็นถึงความสำเร็จของนโยบายลดการพึ่งพาการส่งออกไปยังตลาดเดียว
    2.3 การดึงดูดบริษัทต่างชาติให้ลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาในไต้หวัน
          รัฐบาลไต้หวันมีแผนดึงดูดบริษัทต่างชาติรายใหญ่ให้เข้ามาลงทุนสร้างศูนย์วิจัยและพัฒนาในไต้หวัน โดยอาศัยจุดแข็ง 3 ประการ ได้แก่ (1) หลักนิติธรรมตามระบอบประชาธิปไตยที่เปิดกว้างและโปร่งใส (2) อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ชั้นนำของโลกซึ่งมีที่ตั้งทางยุทธศาสตร์ในเอเชียแปซิฟิก และ (3) มาตรการของรัฐบาลในการดึงดูดบริษัทต่างชาติ เช่น การลงทุนมูลค่า 10,000 ล้านดอลลาร์ไต้หวัน ในระยะเวลา 7 ปี เพื่อเปลี่ยนไต้หวันให้กลายเป็นศูนย์กลางการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูง การจัดตั้งสถาบันวิจัยด้านเทคโนโลยีเซมิคอนดักเตอร์ และการลดหย่อนภาษีสำหรับการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาผ่านกฎหมายว่าด้วยนวัตกรรมทางอุตสาหกรรม ทั้งนี้ ณ วันที่ 1 ก.ย. 2565 มีบริษัทต่างชาติรายใหญ่เข้ามาจัดตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาในไต้หวันแล้วราว 30 บริษัท มูลค่าเงินลงทุนรวม 60,000 ล้านดอลลาร์ไต้หวัน และคาดว่าจะสร้างมูลค่าการผลิตได้ราว 340,000 ล้านดอลลาร์ไต้หวันต่อปี โดยไต้หวันมองว่า การลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาของบริษัทต่างชาติไม่เพียงสร้างโอกาสการจ้างงานที่มีคุณภาพสูงขึ้นทั่วไต้หวัน แต่ยังช่วยสร้าง “เกราะป้องกันซิลิคอน” (Silicon Shield) ซึ่งเป็นการเสริมสร้างความมั่นคงของชาติด้วยเช่นกัน
    2.4 การตั้งเป้าที่จะปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2593
          เมื่อเดือน มี.ค. 2565 รัฐบาลไต้หวันประกาศแผนการดำเนินงานเพื่อบรรลุนโยบายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2593 รวมถึงผลักดันมาตรการที่สำคัญต่อการเปลี่ยนผ่าน เช่น โครงการให้เงินอุดหนุนการซื้อสกูตเตอร์ไฟฟ้าและเครื่องใช้ไฟฟ้าประหยัดพลังงาน ซึ่งจะเริ่มโครงการในปี 2566 นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 8 ธ.ค. 2565 ครม. ไต้หวันได้อนุมัติร่างแก้ไขกฎหมายว่าด้วยการพัฒนาพลังงานหมุนเวียน โดยเสนอให้อาคารที่สร้างขึ้นใหม่ ต่อเติม หรือดัดแปลงต้องติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนดาดฟ้า ทั้งนี้ ในด้านพลังงานแสงอาทิตย์ไต้หวันมีกำลังการผลิตรวม 9.3 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง โดยราวร้อยละ 65 มาจากแผงโซลาร์เซลล์บนดาดฟ้า ดังนั้น หากร่างแก้ไขกฎหมายดังล่าวได้รับการอนุมัติจากสภานิติบัญญัติก็จะช่วยขยายโอกาสการพัฒนาที่มีศักยภาพสูงต่อไป

  3. สถานการณ์เศรษฐกิจไต้หวัน-ไทย
    3.1 ด้านการค้า ข้อมูลจากกรมการค้าต่างประเทศไต้หวัน ระบุว่า ในปี 2565 การค้าระหว่างไต้หวันและไทยมีมูลค่ารวม 13,832.73 ล้าน USD แบ่งเป็นมูลค่าการส่งออกรวมจากไต้หวันไปยังไทย 7,543.40 ล้าน USD และมูลค่าการนำเข้ารวมจากไทยมายังไต้หวัน 6,289.33 ล้าน USD โดยไทยเป็นคู่ค้าลำดับที่ 13 ของไต้หวัน โดยสินค้าส่งออกจากไทยมาไต้หวัน 3 อันแรก ได้แก่ (1) เครื่องจักรและอุปกรณ์ไฟฟ้า (3,470.34 ล้าน USD) (2) อาหารปรุงสำเร็จ เครื่องดื่ม สุรา น้ำส้มสายชู และยาสูบ (452.91 ล้าน USD) และ (3) พลาสติกและยาง (438.52 ล้าน USD) ขณะที่สินค้านำเข้าจากไต้หวันมายังไทย 3 อันดับแรก ได้แก่ (1) เครื่องจักรและอุปกรณ์ไฟฟ้า (3,837.70 ล้าน USD) (2) แร่โลหะ (1,295.67 ล้าน USD) และ (3) เคมีภัณฑ์ (648.64 ล้าน USD)
    3.2 ด้านการลงทุน ข้อมูลจากคณะกรรมการพิจารณาการลงทุนไต้หวัน ระบุว่า ในช่วงเดือน ม.ค.-พ.ย. 2565 มีโครงการลงทุนจากไต้หวันในไทย 15 โครงการ (เพิ่มขึ้นร้อยละ 25) คิดเป็นมูลค่าเงินลงทุน 261.06 ล้าน USD (ลดลงร้อยละ 21.49) อุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเงินลงทุนสูงสุด ได้แก่ (1) การผลิตยานยนต์และชิ้นส่วน (135.77 ล้าน USD) (2) การผลิตอุปกรณ์ไฟฟ้า (49.37 ล้าน USD) (3) การค้าส่งและค้าปลีก (30.04 ล้าน USD) ขณะที่มีโครงการลงทุนจากไทยมายังไต้หวัน 14 โครงการ (ลดลงร้อยละ 44) คิดเป็นมูลค่าเงินลงทุน 360.02 ล้าน USD (ลดลงร้อยละ 13.97) อุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเงินลงทุนสูงสุด ได้แก่ (1) การเงินและการประกันภัย (304.08 ล้าน USD) (2) การจ่ายไฟฟ้าและแก๊ส (37.49 ล้าน USD) (3) ภาคการผลิต (10.33 ล้าน USD)

  4. แนวโน้มเศรษฐกิจปี 2566
    4.1 อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ เมื่อวันที่ 29 พ.ย. 2565 สำนักงบประมาณฯ ไต้หวัน คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจไต้หวันในปี 2566 จะขยายตัวร้อยละ 2.75 โดยมีปัจจัยหลักจากการขยายกำลังการผลิตของผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์และการลงทุนด้านพลังงานลมนอกชายฝั่งอย่างต่อเนื่อง กอปรกับการบริโภคภายในที่ฟื้นตัวโดยเฉพาะจากการท่องเที่ยวหลังรัฐบาลไต้หวันประกาศผ่อนคลายมาตรการควบคุมพรมแดนในเดือน ต.ค. 2565 นอกจากนี้ จากการที่เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มเติบโตลดลงในปี 2566 ปธน. ไช่ อิงเหวิน ได้เสนอแนวทางกระตุ้นเศรษฐกิจ 3 ประการ ได้แก่ (1) รักษาแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจและรักษาเสถียรภาพของราคาสินค้าภายใน (2) เสริมสร้างการดูแลผู้ด้อยโอกาสและลดภาระในการดำรงชีวิต และ (3) สร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการเงิน
    4.2 สถานการณ์เงินเฟ้อ เมื่อวันที่ 15 ธ.ค. 2565 ธนาคารกลางไต้หวัน คาดการณ์ว่า แรงกดดันจากภาวะเงินเฟ้อจะบรรเทาลงในปี 2566 โดยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) อาจลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 1.88 ซึ่งต่ำกว่าระดับเฝ้าระวังที่ร้อยละ 2 โดยมีปัจจัยหลักจากปัญหาการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานโลกที่ปรับตัวดีขึ้น และราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่คาดว่าจะปรับตัวลดลง 
    4.3 การลงทุน รัฐบาลไต้หวันจะให้ความสำคัญกับนโยบายมุ่งใต้ใหม่มากขึ้น เนื่องจากไต้หวันต้องการเป็นผู้เล่นหลักในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกในยุคหลังโควิด-19 อีกทั้งจะผสานความสามารถของไต้หวันในด้านอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูงเข้ากับนโยบายมุ่งใต้ใหม่ผ่านการผลักดัน “แผนมุ่งใต้ใหม่ด้านดิจิทัล” (Digital New Southbound Initiative) นอกจากนี้ จากการที่ประเทศเป้าหมายตามนโยบายมุ่งใต้ใหม่กลายเป็นจุดหมายสำคัญสำหรับการลงทุนภายใต้การปรับโครงสร้างห่วงโซ่อุปทานโลกในช่วงที่ผ่านมา ภายหลังจากที่ไต้หวันเปิดพรมแดนแล้วกระทรวงเศรษฐการไต้หวันมีแผนนำคณะนักธุรกิจไต้หวันไปสำรวจโอกาสการลงทุนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พร้อมกระชับความร่วมมือด้านการลงทุนกับประเทศต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ไต้หวันให้ความสำคัญกับไทยในฐานะฐานการผลิตเป็นหลัก โดยมุ่งเน้นไปที่อุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งรัฐบาลไทยมีนโยบายส่งเสริมการลงทุนอยู่ 
    4.4 การท่องเที่ยว แม้ว่าไต้หวันได้ประกาศเปิดพรมแดนตั้งแต่วันที่ 13 ต.ค. 2565 และยกเลิกการจำกัดจำนวนผู้เดินทางเข้าไต้หวันตั้งแต่วันที่ 10 ธ.ค. 2565 จนกลับสู่ภาวะปกติก่อนการระบาดของโรคโควิด-19 แต่กระทรวงคมนาคมไต้หวัน คาดการณ์ว่า ในปี 2566 จะมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาไต้หวันประมาณ 6 ล้านคน หรือคิดเป็นเพียงครึ่งหนึ่งของจำนวนนักท่องเที่ยวในช่วงก่อนเกิดการระบาด โดยเป็นการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ทั้งนี้ นักท่องเที่ยวที่เป็นเป้าหมายหลักของกรมการท่องเที่ยวไต้หวัน ได้แก่ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และประเทศเป้าหมายตามนโยบายมุ่งใต้ใหม่
    4.5 แนวโน้มทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับ/ได้รับผลกระทบจากจีน หลังจากที่นางแนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรของสหรัฐฯ เดินทางเยือนไต้หวันในเดือน ส.ค. 2565 จีนได้ดำเนินมาตรการตอบโต้ทางเศรษฐกิจระลอกใหม่ต่อไต้หวัน โดยภาคการเกษตรของไต้หวันได้รับผลระทบมากที่สุด อย่างไรก็ตาม ข้อมูลของ Goldman Sachs ชี้ว่า ผลิตภัณฑ์อาหารคิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 0.4 ของมูลค่าการส่งออกรวมจากไต้หวันไปยังจีนมาตรการตอบโต้ทางเศรษฐกิจของจีนจึงแทบไม่ส่งผลกระทบต่อ GDP ของไต้หวัน ทว่าในปี 2566 ไต้หวันยังคงต้อง เฝ้าระวังความเสี่ยงทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ โดยจีนอาจขยายข้อจำกัดทางการค้าจากสินค้าเกษตรเป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่ใช่เทคโนโลยี และยังคงไว้ซึ่งมาตรการที่เกี่ยวข้องกับการห้ามนักท่องเที่ยวจีนเดินทางมาเยือนไต้หวัน ภัยคุกคามที่สำคัญที่สุดของไต้หวันอาจไม่ใช่ผลกระทบจากมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจของจีน แต่เป็นภัยคุกคามทางการทหารของจีนที่อาจส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติ ดังจะเห็นได้จากรายงานล่าสุดของ U.S. Business Environment Risk Intelligence (BERI) ในเดือน ธ.ค. 2565 ที่จัดให้ไต้หวันอยู่อันดับที่ 14 ในการเป็นจุดหมายที่น่าลงทุนที่สุด ซึ่งลดลงมาถึง 8 อันดับ โดยมีปัจจัยหลักมาจากความตึงเครียดทางการเมืองระหว่างสองฝั่งช่องแคบไต้หวัน

ADVERTISEMENTLittle Thai Alley

วิดีโอประกอบ

เศรษฐกิจไทย-ไต้หวัน 2565 และแนวโน้มปี 2566 | Economic Update