แนวคิดการรณรงค์ลดอาหารส่วนเกินของร้านสะดวกซื้อไต้หวัน ช่วยโลกในราคาสบายกระเป๋า

แนวคิดการรณรงค์ลดอาหารส่วนเกินของร้านสะดวกซื้อไต้หวัน ช่วยโลกในราคาสบายกระเป๋า

วันที่นำเข้าข้อมูล 5 ม.ค. 2565

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 4 ส.ค. 2565

| 1,883 view

ในปัจจุบันที่ประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อม การใช้ทรัพยากรโลกอย่างคุ้มค่า และการพัฒนาอย่างยั่งยืนเป็นประเด็นที่ทุกประเทศทั่วโลกเห็นตรงกันว่าเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องเร่งดำเนินการ ประเด็นการรณรงค์ที่เกี่ยวข้องก้าวหน้าไปไกลกว่า ประเด็นเรื่องการลดขยะพลาสติก ไปสู่การผลิตที่สอดคล้องกับหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน ที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้ หรือแม้กระทั่งผลิตจากวัตถุดิบรีไซเคิล อีกหนึ่งประเด็นสำคัญ คือ การลดปัญหาขยะอาหาร (Food waste) จากอาหารส่วนเกินโดยเฉพาะในอุตสาหกรรมอาหาร 

ในหลายประเทศได้รณรงค์ให้ภาคเอกชนและผู้บริโภคลดการสร้างขยะที่เกิดจากอาหาร โดยในภาคเอกชนได้มีการส่งเสริมให้ภาคการผลิตอาหารปรับวิธีการผลิตให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และไม่มีอาหารส่วนเกินที่เน่าเสียและต้องถูกทิ้งไปอย่างเปล่าประโยชน์ 

ไต้หวันได้ตระหนักถึงปัญหาขยะอาหารที่เกิดขึ้น จึงได้มีความพยายามลดปริมาณขยะจากอาหาร โดยร้านสะดวกซื้อขนาดใหญ่ของไต้หวันอย่าง 7-11 และ Family Mart ได้ออกนโยบายลดปัญหาขยะอาหารเหลือในแต่ละวัน ด้วยการลดราคาอาหารพร้อมทานที่ผลิตสดสำหรับการบริโภคภายในวันเดียวกัน ประเภทข้าวปั้น ข้าวกล่อง ขนมปัง และเมนูอาหารประเภทเส้นที่ขายไม่หมดและกำลังจะหมดอายุในแต่ละวัน เพื่อจูงใจให้ผู้บริโภคได้บริโภคของที่สดใหม่ในราคาประหยัด และลดขยะอาหาร (Food Waste) ที่จะเกิดจากการขายสินค้าไม่หมดทันเวลาบริโภค

1_1

Family Mart 

ตั้งแต่ 2019 เป็นต้นมา Family Mart ได้มีโครงการส่งเสริมการขาย “Friendly Food“ หรือ “友善食光” (โหย่วซ่านสือกวัง) โดยจะนำอาหารที่จะกำลังหมดอายุภายใน 7 ชั่วโมง มาลดราคาลง 30 % เพื่อจูงใจผู้บริโภคซื้อสินค้ามากขึ้น โดยโครงการดังกล่าวช่วยลดปริมาณขยะอาหารได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากเป็นทางเลือกของที่ช่วยให้กลุ่มผู้บริโภคประหยัดค่าใช้จ่ายได้ โดยอาหารที่นำมาลดราคาก็ยังเป็นอาหารที่มีคุณภาพดีอยู่ เพียงแต่ต้องบริโภคภายในวันดังกล่าว โดย Family Mart ได้จัดช่วงการลดราคาเป็น 2 แบบ ได้แก่ 1.ลดราคาตามช่วงเวลา 2. ลดราคาตามการติดสติกเกอร์บาร์โค้ด

1.ลดราคาตามช่วงเวลา ร้านค้าจะมีรอบการลดราคาสินค้า วันละ 2 รอบ ได้แก่ ระหว่าง 10.00-17.00 น. และ 17.00-24.00 น. โดยในรอบแรกระหว่างเวลา 10.00-17.00 น. จะจำหน่ายอาหารลดราคาประเภท ข้าวปั้น แซนด์วิช ซูชิ และ ขนมปัง เท่านั้น และในรอบสอง ระหว่างเวลา 17.00-24.00 น. จะเป็นการลดราคาสำหรับอาหารชนิดอื่น ๆ ที่เป็นอาหารผลิตสด ได้แก่ ข้าวกล่อง บะหมี่ ผลไม้สดหั่นพร้อมทาน และอื่น ๆ โดยสินค้าที่ใกล้จะหมดอายุทุกชนิดจะมีสติ๊กเกอร์สีเหลืองติดอยู่บนผลิตภัณฑ์ และหากผู้บริโภคนำไปชำระเงินจะได้ส่วนลดทันที 30% ของราคาสินค้า

e585a8e5aeb6e79a84e58f8be59684e9a39fe585891

2.ลดราคาตามการติดสติกเกอร์บาร์โค้ด นอกจากสินค้าที่มีสติ๊กเกอร์สีเหลืองแปะเอาไว้แล้ว สินค้าบางชนิดที่ไม่ได้มีการติดสติ๊กเกอร์สีเหลืองเอาไว้ แต่กำลังจะหมดอายุภายใน 24 ชั่วโมง เมื่อถึงขั้นตอนชำระเงิน ตอนสแกนบาร์โค้ดก็จะได้รับส่วนลดสินค้าเช่นกัน แม้ว่าเป็นการซื้อสินค้านอกช่วงเวลาลดราคาที่กำหนด โดยเป็นกลุ่มสินค้าประเภท ข้าวปั้น ขนมปัง และซูชิ

img-1617850197-19325

นอกจากนี้ เครื่องมือทางเทคโนโลยีที่สำคัญที่ Family Mart นำมาใช้กับโครงการส่งเสริมการขาย คือ ระบบตรวจสอบรายการสินค้าที่ใกล้จะหมดอายุผ่านทางแอพพลิเคชั่น Family Mart ที่จะมีเมนู 友善食光 ให้กดตรวจสอบรายการสินค้าที่จะถูกนำมาลดราคาในแต่ละสาขา เพื่อให้สามารถไปเลือกซื้อได้ถูกร้าน แต่จะไม่สามารถทำรายการสั่งซื้อได้จากในแอพพลิเคชั่น ซึ่งกลไกนี้อำนวยความสะดวกและเป็นความสนุกอย่างหนึ่งให้กับผู้บริโภคที่ค้นหาของดี ราคาถูก

โดยหลังจากที่ดำเนินกิจกรรมส่งเสริมการขาย Friendly Food ได้เพียงแค่ 1 เดือน Family Mart ก็สามารถทำยอดขายสินค้า (ที่ใกล้หมดอายุ) ได้มากกว่า 1 ล้านรายการ อีกทั้ง ยังสามารถลดปริมาณขยะอาหารในแต่ละเดือนได้ถึง 250 เมตริกตันต่อเดือน ซึ่งเทียบเท่ากับการลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ประมาณ 80,000 กิโลกรัมต่อเดือน 

7-11

ในขณะเดียวกัน ร้านสะดวกซื้อรายใหญ่ในไต้หวันอย่าง 7-11 ก็ได้มีนโยบายที่ช่วยลดปริมาณขยะอาหารเช่นเดียวกัน โดย 7-11 จะลดราคาสินค้าที่ใกล้หมดอายุก่อน 7 ชั่วโมงลง 35% ของราคาสินค้า โดยมี โครงการส่งเสริมการขาย ชื่อว่า “I love food” หรือ “i珍食” (ไอเจินสือ) ซึ่งมีนโยบายคล้ายกับ Family Mart แต่จะมีช่วงระยะเวลาการลดราคาที่แตกต่างกัน โดย 7-11 จะแบ่งช่วงการลดราคาออกเป็นสองช่วงเวลาได้แก่ 10.00-17.00 น. และ 20.00-03.00 น. โดยสามารถซื้ออาหารที่ใกล้จะหมดอายุประเภทใดก็ได้ในทั้งสองช่วงเวลา  ซึ่งรายการอาหารที่เข้าร่วมโครงการของ 7-11 ได้แก่ อาหารประเภทโจ๊ก ซุป ข้าวกล่อง ผลไม้ บะหมี่ สลัด ข้าวปั้น แซนด์วิช และของหวานชนิดอื่น ๆ โดยอาหารส่วนมากจะเป็นอาหารพร้อมทานผลิตสดต่อวัน 

นอกจากนี้ 7-11 ก็ได้อำนวยความสะดวกให้กับผู้บริโภคเช่นเดียวกับ Family Mart โดยผ่านแอพพลิเคชั่นหลักของ 7-11 อย่าง “Open Point” เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบรายการสินค้าลดราคาที่มีอยู่ใน
7-11 ทุกสาขา โดยผู้บริโภคสามารถกดติดตามรายการอาหารที่สนใจได้ เพื่อให้สามารถไปซื้อได้ถูกสาขา หากสินค้าที่กดติดตามจำหน่ายหมดแล้ว ระบบจะมีการแจ้งเตือนขึ้นมา ซึ่งผู้บริโภคไม่สามารถที่จะสั่งอาหารโดยตรงผ่านแอพพลิเคชั่นได้ เช่นเดียวกับ Family Mart 

1636022248-880678097a78ada29ad31626ffacc6b0-636x1200

นโยบายลดปริมาณขยะอาหารของ Family Mart และ 7-11 ทำให้ปริมาณขยะอาหารของไต้หวันลดลงมากถึง 3 เท่าในช่วงปี 2020 ที่ผ่านมา ซึ่งนอกจากการผลักดันนโยบายลดปริมาณขยะอาหารแล้ว ร้านสะดวกซื้อของไต้หวันก็มีนโยบายสีเขียวอื่น ๆ อีก เช่น การลดใช้ถุงพลาสติก การทำให้ขยะกลายเป็นศูนย์ด้วยการใช้ภาชนะพลาสติกรีไซเคิลเป็นบรรจุภัณฑ์สำหรับอาหารพร้อมทาน โดยที่ร้านสะดวกซื้ออย่าง Family Mart ในอาคารไทเป 101 ได้เปิดตัวเบนโตะ (ข้าวกล่อง) ที่ขายในภาชนะที่ทำจากพลาสติกรีไซเคิล ซึ่งหลังจากลูกค้ารับประทานอาหารเรียบร้อยแล้ว ทางร้านจะรวบรวมกล่องข้าวดังกล่าวส่งคืนไปยังบริษัทผู้ผลิตเพื่อทำความสะอาด และนำมาใส่อาหารเพื่อวางขายอีกครั้ง โดย Family Mart พยายามเชิญชวนให้ผู้บริโภคตระหนักและร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการส่งเสริมการนำกลับมาใช้ใหม่ นอกจากนี้ บริการส่งอาหารเดลิเวอรี่อย่าง food panda ในไถหนานก็ได้ริเริ่มร่วมมือกับร้านค้าต่าง ๆ หันมาใช้กล่องบรรจุภัณฑ์ที่สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้เพื่อส่งเสริมแนวคิดการกลับมาใช้ใหม่

นอกจากธุรกิจขนาดใหญ่อย่าง Family Mart และ 7-11 แล้ว ร้านสะดวกซื้อท้องถิ่นก็ได้ทดลองเปิดตัวบริการเช่าแก้วสำหรับเครื่องดื่มอย่างชาหรือกาแฟตามเมืองและย่านธุรกิจต่าง ๆ ทั่วไต้หวัน เช่น “เจิ้งซิงเปยเปย (正興杯杯)” ในเขตการค้าเจิ้งซิงของไถหนาน “เปยเท่อเปย (杯特杯)” ในย่านการค้าท้องถิ่นของเมืองซินจู๋และในมหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวัน ที่ให้ผู้บริโภคสามารถเช่าแก้วเครื่องดื่มที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพื่อลดการใช้พลาสติกครั้งเดียวแล้วทิ้ง โดยวิธีการเช่าหรือยืมแก้วนั้นทำได้ง่ายมากเพียงแค่สแกน QR Code จากเครื่องยืมแก้ว กดเลือกยืมแล้ว แล้วกรอกหมายเลขของแก้วที่เราต้องการยืม โดยใช้เวลาเพียงแค่ 2-3 นาทีเท่านั้น หลังจากนั้น พนักงานก็จะเตรียมเครื่องดื่มให้ลูกค้าพร้อมกับส่วนลดสำหรับการลดใช้แก้วพลาสติก และเมื่อใช้แก้วเสร็จแล้ว ให้นำแก้วไปคืนที่เครื่องคืนแก้วหรือจุดคืนแก้วที่กำหนด แล้วทางร้านจะนำไปทำความสะอาดแล้วนำกลับมาใช้ซ้ำอีกครั้ง 

การลดขยะพลาสติกแบบครั้งเดียวทิ้งสำหรับสินค้าประเภทอาหารถึงแม้จะดูเป็นเรื่องยาก แต่ทางผู้ประกอบการของไต้หวันยังคงให้ความสนใจและเข้าร่วมแนวคิดนี้มากขึ้น โดยจะเห็นได้จากการที่ไต้หวันมุ่งเน้นผลักดันนโยบายเชิงสีเขียวให้เป็นเรื่องทั่วไป (Normalize) และสร้างการรับรู้ให้กับประชาชนเพื่อตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมผ่านนโยบายต่าง ๆ ตอบสนองต่อความต้องการลดขยะพลาสติกที่กำลังเป็นปัญหาอยู่ การใช้ซ้ำเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าธุรกิจค้าปลีกมีบทบาทสำคัญในการลดปริมาณการใช้พลาสติก และขยะพลาสติก ตราบใดที่อุตสาหกรรมค้าปลีกมองเห็นถึงปัญหาและพยายามมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาย่อมส่งผลบวกต่อความพยายามในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภคด้วย

แหล่งอ้างอิง

https://www.greenpeace.org/thailand/story/19850/plastic-7-eleven-taiwan-announces-phase-out-of-single-use-plastics-a-first-in-asia/

https://www.greenpeace.org/thailand/story/18879/plastic-deposit-food-container-taiwan/

https://www.7-11.com.tw/event/lovefood/index.aspx

https://nevent.family.com.tw/cherishfood/

https://www.marketingoops.com/news/biz-news/7eleven-and-lawson-convenience-store-discount-food-for-reduce-food-waste/

https://www.bnext.com.tw/article/62195/familymart-bar-code-application-2021

https://dailyview.tw/Popular/Detail/10311

https://www.dcard.tw/f/persona_pknick8/p/237366284

https://www.kocpc.com.tw/archives/411154

https://www.wongnai.com/business-owners/how-to-manage-food-waste

https://www.salika.co/2018/11/01/5-ideas-food-waste-management/

https://sciplanet.org/content/8436

https://www.greenpeace.org/thailand/story/18879/plastic-deposit-food-container-taiwan/

https://sciplanet.org/content/8436