ไต้หวันกับยุทธศาสตร์การดึงบุคลากรที่มีศักยภาพร่วมพัฒนาอุตสาหกรรม

ไต้หวันกับยุทธศาสตร์การดึงบุคลากรที่มีศักยภาพร่วมพัฒนาอุตสาหกรรม

วันที่นำเข้าข้อมูล 1 พ.ย. 2564

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 4 ส.ค. 2565

| 1,890 view
 
"ปรากฏการณ์สมองไหล"
 
ในโลกที่การอพยพ ย้ายถิ่นฐานของมนุษย์สามารถทำได้ง่ายขึ้น เทคโนโลยีสารสนเทศทำให้การติดต่อสื่อสาร การเข้าถึงข้อมูลต่าง ๆ เป็นไปอย่างสะดวกสบาย เป็นปัจจัยที่เอื้อให้เกิดภาวะสมองไหล (brain drain) มากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อปัจจัยภายในประเทศต้นทาง ทั้งสภาพเศรษฐกิจและการเมืองไม่เอื้อต่อการพัฒนา ไม่มีสวัสดิการสังคมหรือคุณภาพชีวิตที่ดีเพียงพอ ประเทศกำลังพัฒนาหลาย ๆ ประเทศกำลังพบกับปรากฎการณ์สมองไหลที่คนรุ่นใหม่ที่มีความรู้ ความสามารถตัดสินใจย้ายไปตั้งถิ่นฐานในต่างประเทศจึงสูญเสียบุคลากรที่จะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศออกไป
ทั้งนี้ อาจเพราะกลุ่มคนที่มีศักยภาพ เห็นว่าประเทศของตนมีนโยบายหรือสภาพแวดล้อมที่ไม่สอดคล้องต่อบรรยากาศในการพัฒนาตนให้สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาของโลก จึงออกไปแสวงหาโอกาสในการพัฒนาตนในประเทศที่เห็นว่าดีกว่า
 
”ไต้หวัน” เองก็ประสบปัญหาสมองไหลอย่างรุนแรงมาแล้วตั้งแต่ช่วงปลายทศวรรษ 1960 - 1980 ที่สภาพสังคมภายในไต้หวันขาดเสรีภาพทางการเมือง ตกอยู่ใต้กฎอัยการศึกของยุครัฐบาลเผด็จการของพรรคก๊กมินตั๋ง ไม่มีเสรีภาพทางวิชาการ ส่งผลให้นักวิชาการ นักวิจัยไต้หวันหนีสภาวะความไม่มั่นคงทางการเมืองไปยังประเทศอื่น ซึ่งสหรัฐอเมริกา เป็นจุดหมายที่คนไต้หวันนิยมไปศึกษาต่อและมากกว่าร้อยละ 80 ของนักศึกษาที่ไปศึกษาต่อที่สหรัฐฯ ตัดสินใจหางานทำและตั้งถิ่นฐานอยู่ในสหรัฐฯ ต่อ อย่างไรก็ดี ในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา ไต้หวันตระหนักถึงปัญหานี้ และได้พยายามแก้ไขปัญหาสมองไหล โดยดึงคนไต้หวันที่มีศักยภาพให้กลับมาพัฒนาไต้หวัน นายมอริส จาง ผู้ก่อตั้งบริษัท TSMC ที่ครองตลาดชิประดับโลกของไต้หวัน ก็เป็นอีกหนึ่งคนที่รัฐบาลไต้หวันชักชวนให้กลับมาพัฒนาอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของไต้หวัน ตามนโยบายของรัฐบาลที่จะส่งเสริมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง
 
ap_418573879486
 
"ไต้หวันกับปรากฏการณ์สมองไหล"
 
รัฐบาลไต้หวันได้นำบทเรียนในช่วงยุค 1960 - 1970 มาดำเนินการแก้ไขอย่างต่อเนื่อง โดยไต้หวันใช้วิธีการปรับกฎเกณฑ์ให้ยืดหยุ่นขึ้น พร้อมทั้งดำเนินการนโยบายเชิงรุกจูงใจให้คนไต้หวันและชาวต่างชาติเดินทางมาทำงานในไต้หวันมากขึ้น เช่น ช่วยเพิ่มเงินสนับสนุนให้บริษัทที่ดึงคนไต้หวันกลับบ้านสำเร็จ มีการจัด Job Expo ในเมืองใหญ่ๆ เช่น นิวยอร์ก ซานฟรานซิสโก ลอสแอนเจลิส หรือกระทั่งสำหรับคนที่อยากทำธุรกิจของตนเอง ไต้หวันก็เปิดให้มีแหล่งทุนกู้ยืมดอกเบี้ยต่ำที่เข้าถึงง่ายขึ้น ช่วยอำนวยความสะดวกเรื่องที่อยู่อาศัยและโรงเรียนเพื่อให้คนไต้หวันกลับมาพร้อมกันทั้งครอบครัว ขณะเดียวกัน ไต้หวันก็เปิดรับคนชาติอื่นๆ ให้เข้ามาทำงานมากขึ้นไปพร้อมกัน เพื่อสร้างบรรยากาศการทำงานที่เป็นนานาชาติ โดยเฉพาะในธุรกิจอิเล็กทรอนิกส์และสารสนเทศที่กำหนดให้เป็นอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ของประเทศกระทั่งการยอมปรับระเบียบการเกณฑ์ทหารให้ยืดหยุ่นขึ้น ซึ่งจากนโยบายเหล่านี้ ทำให้สภาวะสมองไหลของไต้หวันเริ่มลดน้อยลง
 
อย่างไรก็ตาม สภาวะสมองไหลของไต้หวันแม้จะน้อยลงแล้วในปัจจุบัน แต่ก็ไม่ใช่ประเด็นที่รัฐบาลวางใจ ยังคงผลักดันกฏหมาย และใช้ soft power สร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับคนไต้หวันที่เกิดหรือเติบโตในต่างประเทศให้มีความผูกพันกับไต้หวัน ผ่านการจัดการอบรมต่าง ๆ ให้กับลูกหลานคนไต้หวันในต่างประเทศเพื่อดึงบุคลากรชั้นนำที่เป็นรุ่นที่สอง (second generation) ในต่างประเทศกลับมายังไต้หวัน
 
นอกจากนี้ ยังมีนโยบายดึงชาวต่างชาติ เข้ามาทดแทนช่องว่างในการขาดแคลนบุคลากรของไต้หวัน โดย การผลักดันกฎหมายว่าด้วยการจ้างงานผู้เชี่ยวชาญต่างชาติ (Foreign Professional Act) โดยมีเนื้อหาหลักคือ ผ่อนปรนกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการตรวจคนเข้าเมือง วีซ่าทำงาน กฎระเบียบการย้ายถิ่นฐาน และเพิ่มสิทธิพิเศษให้กับผู้เชี่ยวชาญจากทั่วโลกทั้ง 8 สาขา เช่น ด้านเทคโนโลยี เศรษฐศาสตร์ นิติศาสตร์ ด้านการศึกษา ศิลปะวัฒนธรรมและกีฬา สถาปนิก อุตสาหกรรมด้านการป้องกันประเทศ และการเงิน และยังสามารถยื่นขออนุมัติบัตรทองการจ้างงาน (Employment Gold Card) กับหน่วยงานตรวจคนเข้าเมืองได้
 
"บัตร Employment Gold Card หรือ บัตรทองการจ้างงาน"
 
บัตร Employment Gold Card หรือ บัตรทองการจ้างงานไต้หวันได้รับการอนุมัติการใช้งานอย่างเป็นทางการจากสภาพัฒนาแห่งชาติไต้หวันเมื่อปี พ.ศ. 2562 โดยเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์นโยบายเพื่อเฟ้นหาผู้เชี่ยวชาญชาวต่างชาติให้เข้ามาทำงานในไต้หวัน ซึ่งมอบสิทธิประโยชน์ 4 อย่างภายในบัตรเดียว ประกอบด้วย 1) ใบอนุญาตทำงาน อนุญาตให้ผู้ถือบัตรสามารถทำงานได้อย่างอิสระทั้งแบบเต็มเวลา (Full Time) และแบบพาร์มไทม์ (Part-time) รวมถึงอนุญาตให้เปลี่ยนงานได้อย่างอิสระ ตลอดจนยินยอมให้ดำเนินธุรกิจส่วนตัวได้ 2) สิทธิพำนักในไต้หวัน โดยอนุญาตให้ผู้ถือบัตรสามารถพำนักในไต้หวันได้ระยะเวลาเกิน 180 วัน ต่อครั้ง 3) บัตรแสดงถิ่นที่อยู่สำหรับชาวต่างชาติ (ARC) บัตรประจำตัวประชาชนสำหรับชาวต่างชาติ ที่อนุญาตให้พำนักในไต้หวันได้ในระยะยาวอย่างถูกต้องตามกฏหมาย 4) บัตรอนุญาตเดินทางกลับเข้าประเทศ อนุญาตให้ผู้ถือบัตรสามารถเข้า-ออกไต้หวันได้อย่างอิสระไม่มีการจำกัดจำนวนครั้ง โดยผู้ที่จะสมัครได้จะต้องเป็นผู้ที่มีความสามารถและมีผลงานโดดเด่นเป็นที่ยอมรับในนานาชาติ และมีความรู้ความชำนาญเฉพาะทางตรงกับความต้องการในการยกระดับอุตสาหกรรมของไต้หวัน ทั้ง 8 สาขา ได้แก่ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เศรษฐศาสตร์ ศิลปะวัฒนธรรม ศึกษาศาสตร์ การกีฬา การเงิน นิติศาสตร์ และ สถาปัตยกรรมศาสตร์ โดยผู้ที่มีคุณสมบัติครบถ้วนตามที่ทางการกำหนดสามารถแสดงความจำนงยื่นขอสมัครได้ที่เว็บไซต์หลัก: https://goldcard.nat.gov.tw/en/
 
4a6vvssr3df82di0acwdocvnf81iqb

 

การผลักดันกฏหมายว่าด้วยการว่าจ้างชาวต่างชาติของไต้หวัน นำมาซึ่งการลดช่องว่างระหว่างบุคลากรชั้นนำของไต้หวัน โดยข้อมูลและสถิติจากสภาพัฒนาแห่งชาติไต้หวันระบุว่า ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2564 ที่ผ่านมา มีผู้เชี่ยวชาญชาวต่างชาติที่ได้ยื่นคำร้องสมัครบัตรทองการจ้างงาน ทั้งสิ้น 1,999 ราย ซึ่งเพิ่มขึ้นเป็น 3 เท่าจากเมื่อปีก่อนหน้าที่มีผู้ยื่นคำร้องเพียง 647 รายเท่านั้น โดยอ้างอิงจากสถิติตั้งแต่ปี 2562-2564 ไต้หวันได้ออกบัตรทองการจ้างงานแล้วกว่า 1,945 ใบ ซึ่งในจำนวนนี้ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ เป็นผู้ที่ได้รับบัตรทองจ้างงานมากที่สุดคิดเป็นจำนวน 1,341 ใบ หรือร้อยละ 68.9 รองลงมาคือผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี จำนวน 204 ใบ และ ผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปะวัฒนธรรมจำนวน 153 ใบ โดยชาวต่างชาติที่ได้รับบัตรทองมากที่สุดแบ่งเป็น ชาวอเมริกัน ฮ่องกง อังกฤษ แคนาดา และ เยอรมัน 

 
นอกเหนือจากบัตรทองการจ้างงานแล้ว สภาพัฒนาแห่งชาติไต้หวันยังได้มีการออกใบอนุญาตทำงานชนิดอื่น ที่จูงใจให้ชาวต่างชาติเข้ามาทำงานในไต้หวันอีก อาทิ ใบอนุญาตศิลปินอิสระ (Work Permit for Foreign Professional Artist) ใบอนุญาตทำงานสำหรับบุตรหลานของผู้เชี่ยวชาญชาวต่างชาติ (Work Permit for Foreign Professionals Adult Child) และวีซ่ารอการว่าจ้าง (ROC Employment Seeking Visa) รวมถึงการใช้นโยบายเชิงรุกอย่างการสร้างแพลทฟอร์ม Contact Taiwan ซึ่งเป็นช่องทางที่รัฐบาลใช้เพื่อเป็นศูนย์กลางการหางานและชักชวน นักเรียน นักศึกษา และบุคลากรวัยทำงานที่สนใจมาทำงานที่ไต้หวัน
 
"นโยบายสำหรับผู้ชำนาญทักษะพิเศษด้านแรงงาน"
 
รัฐบาลไต้หวันไม่ได้ให้ความสำคัญเฉพาะกลุ่มผู้เชี่ยวชาญเฉพาะสาขาเท่านั้น แต่ให้ความสำคัญกับกลุ่มแรงงานต่างชาติ (blue-collar workers) ด้วย ที่ถือเป็นอีกกลุ่มที่มีความสำคัญต่อภาคอุตสาหกรรมไต้หวัน เนื่องจากอุตสาหกรรมโรงงานอยู่จำนวนมากยังจำเป็นต้องใช้แรงงานในการขับเคลื่อนการผลิต โดยจากข้อมูลกรมแรงงานประจำเดือนสิงหาคม 2564 แรงงานต่างชาติในไต้หวันมีทั้งหมด 694,788 ราย ซึ่งส่วนมากเป็นแรงงานจาก อินโดนีเซีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และ ไทย ตามลำดับ โดยอินโดนีเซียและเวียดนามครองตลาดแรงงานต่างชาติในไต้หวันกว่า 70% ของแรงงานต่างชาติทั้งหมด
 
ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ได้มีการปรับค่าตอบแทนแรงงานขั้นต่ำเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อต้นปี 2564 ที่ผ่านมา แรงงานไต้หวัน ได้รับค่าตอบแทนเพิ่มขึ้นจาก 23,800 NTD เป็น 24,000 NTD และได้มีการหารือปรับค่าตอบแทนขั้นต่ำเพิ่มขึ้นอีกครั้งเมื่อวันที่ 10 ต.ค. 2564 ที่ผ่านมา โดยในปี 2565 กลุ่มแรงงานมีแนวโน้มจะได้รับการปรับค่าตอบแทนขั้นต่ำเพิ่มขึ้นถึง 6% จาก 24,000 NTD เพิ่มขึ้นเป็น 26,000 NTD นอกจากนี้ ยังมีนโยบายด้านสาธารณสุข ที่ให้สิทธิการรักษาในระบบประกันสุขภาพเช่นเดียวกันกับคนไต้หวันให้กับแรงงานต่างชาติ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งนโยบายที่ทำให้ไต้หวันเป็นจุดหมายปลายทางที่น่าสนใจสำหรับชาวต่างชาติแรงงานต่างชาติ
 
นโยบายการดึงดูดผู้มีศักยภาพคนไต้หวันในต่างประเทศและชาวต่างชาติอย่างต่อเนื่อง สะท้อนให้เห็นว่าไต้หวันตระหนักดีถึงความสำคัญของทรัพยากรมนุษย์ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และถ่ายทอดเทคโนโลยี ความเชี่ยวชาญจากต่างประเทศเข้ามาในไต้หวัน ซึ่งเป็นนโยบายที่ได้ดำเนินการระยะยาวอย่างต่อเนื่องไม่ว่าพรรคการเมืองใดเป็นรัฐบาล
 
 
ข้อมูลและภาพจาก

https://www.taiwannews.com.tw/en/news/4301618

https://urbancreature.co/brain-drain/

http://13.230.18.111/mofaAdmin/thailand/news.php?unit=469&post=168646&unitname=%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%80%E0%B8%A1%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%87&postname=%E2%80%9CForeign-Professionals-Act%E2%80%9D-%E0%B9%84%E0%B8%94%E0%B9%89%E0%B8%9C%E0%B8%A5%E0%B8%AD%E0%B8%A2%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%AB%E0%B9%87%E0%B8%99%E0%B9%84%E0%B8%94%E0%B9%89%E0%B8%8A%E0%B8%B1%E0%B8%94

https://thematter.co/social/brain-drain-and-reverse/142260

https://news.immigration.gov.tw/NewsSection/Detail/f26eb45a-2e51-4db2-b028-7c257bf39aa3?lang=TH

https://www.taiwannews.com.tw/en/news/4193648

https://www.the101.world/chip-new-gen-brain-drain/

https://thestandard.co/taiwan-semiconductor-industry-labor-market/

https://techsauce.co/tech-and-biz/taiwan-would-have-the-highest-talent-deficit-in-the-world

https://www.thaipost.net/main/detail/102261

https://goldcard.nat.gov.tw/en/categories/public-statistics/

https://th.taiwantoday.tw/news.php?unit=468&post=194093

https://www.taiwannews.com.tw/en/news/4310958?fbclid=IwAR0Nvd3Ni_QtvcZSwEDuN8zGbEEImrMPOx84mvalllOJ5B1mVlw1zEF1cGg

https://www.taiwannews.com.tw/en/news/4301618

https://www.contacttaiwan.tw/main/E_index.html?1634022419