ไต้หวันปรับปรุงท่าเรือพาณิชย์ระหว่างประเทศ เพื่อเป็นศูนย์กลางท่าเรืออัจฉริยะภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

ไต้หวันปรับปรุงท่าเรือพาณิชย์ระหว่างประเทศ เพื่อเป็นศูนย์กลางท่าเรืออัจฉริยะภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

วันที่นำเข้าข้อมูล 30 ก.ย. 2564

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 4 ส.ค. 2565

| 2,862 view

“ไต้หวันอนุมัติงบประมาณกว่า 38,000 ล้าน NTD เพื่อปรับปรุงท่าเรือพาณิชย์ระหว่างประเทศ เพื่อบรรลุเป้าหมายการเป็นศูนย์กลางการขนส่งในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก” 

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ The National Development Council (NCD) อนุมัติโครงการลงทุนปรับปรุงท่าเรือพาณิชย์ระหว่างประเทศจำนวน 7 แห่ง เพื่อเพิ่มศักยภาพการค้าระหว่างประเทศ โดยมีงบประมาณการลงทุน 38,166 ล้านดอลลาร์ไต้หวัน ซึ่งโครงการนี้เป็นโครงการ
ในกำกับดูแลของกระทรวงคมนาคม

นาย โหย่ว เจี้ยนฮวา รัฐมนตรีช่วยกระทรวงคมนาคมระบุว่า โครงการปรับปรุงท่าเรือ จะก่อให้เกิดโอกาสในการทำงานกว่า 13,000 ตำแหน่ง และเป็นการเสริมสร้างมูลค่าทางการลงทุนได้สูงถึง 320,000 ล้าน ดอลลาร์ไต้หวัน โดยโครงการมีระยะเวลาในการก่อสร้าง 5 ปี  ตั้งแต่ปี 2565-2569 ซึ่งภายใต้แผนการปรับปรุงท่าเรือทั้ง 7 แห่งนี้ กระทรวงคมนาคม จะดำเนินโครงการย่อยเพิ่มเติมอีก 29 โครงการ สำหรับท่าเรือ จีหลง ไทเป ไถจง เกาสง ฮวาเหลียน อันผิง และ ซูอ้าว เพื่อเพิ่มศักยภาพของท่าเรือดังกล่าวให้กลายเป็นท่าเรือนานาชาติที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (green and smart habour)

บริษัท Taiwan International Ports Corp ซึ่งเป็นบริษัทผู้รับเหมาโครงการปรับปรุงท่าเรือมีแผนจะเพิ่มศักยภาพปริมาณการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ของท่าเรือทั้ง 7 แห่ง โดยคาดการณ์ว่าจะสามารถเพิ่มได้ประมาณ 15.66 -18.22 ล้านหน่วย/TEU (ตู้ 20 ฟุต / 1 TEU) ภายในปี 2569

นอกจากนี้ทางบริษัทฯ ยังคาดว่าจะเพิ่มปริมาณการขนส่งสินค้าทั้งหมดที่ท่าเรือทั้ง 7แห่ง จากน้ำหนักเฉลี่ยประจำที่ 1.59 พันล้านเมตริกตัน เป็น 1.80 พันล้านเมตริกตันภายในปี 2569 เช่นกัน นอกจากนี้ ท่าเรือแต่ละแห่งจะได้รับการพัฒนาส่งเสริมและออกแบบตามเอกลักษณ์ของท่าเรือที่แตกต่างกันตามสภาพแวดล้อม

ทั้งนี้ ท่าเรือเกาสง ซึ่งเป็นท่าเรือที่ใหญ่ที่สุดของไต้หวัน และเป็นท่าเรือตู้คอนเทนเนอร์ที่มีผู้ใช้บริการมากเป็นอันดับที่ 16 ของโลกในปี 2020 จะถูกพัฒนาให้กลายเป็นเป็นศูนย์กลางการขนส่งถ่ายสินค้าชั้นนำในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ขณะเดียวกัน ท่าเรือไทเปก็เป็นท่าเรือที่มีความเหมาะสมในการพัฒนาเป็นศูนย์กลางการขนส่งอัจฉริยะ (Smart Logistics) สำหรับอุปกรณ์รถยนต์ และท่าเรือไถจงจะถูกพัฒนาให้เป็นท่าเรือเพื่อการพัฒนาพลังงานสีเขียว โดยเฉพาะ พลังงานลม และ ก๊าซธรรมชาติ ในขณะที่ ท่าเรือซูอ้าว ฮวาเหลียน และ อันผิง จะถูกพัฒนาให้เป็นท่าเรือสำหรับการท่องเที่ยวเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

นอกจากแผนการพัฒนาท่าเรือระหว่างประเทศทั้ง 7 แห่งแล้ว สำนักงานท่าเรือทางทะเล กระทรวงคมนาคมยังได้มีการวางแผนที่จะอัดฉีดเงินจำนวน 9,700 ล้าน NTD ให้กับ 33 โครงการเพื่อปรับปรุงท่าเรือเชิงพาณิชย์ภายในประเทศ อาทิ ท่าเรือปู้ไต้ ท่าเรือเผิงหู ท่าเรือจินเหมิน และ ท่าเรือหมาจู่ เพื่อเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขัน ส่งเสริมการท่องเที่ยวและการพัฒนาเศรษฐกิจเชิงท้องถิ่น

เมื่อโครงการนี้ก่อสร้างเสร็จ การค้าขายระหว่างประเทศของไต้หวัน โดยเฉพาะภาคการส่งออกจะมีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น และหากโครงการปรับปรุงท่าเรือทั้ง 7 เสร็จสมบูรณ์ คาดว่าจะทำให้มูลค่าการขนส่งทางเรือของไต้หวันเพิ่มสูงขึ้นด้วย

อีกทั้ง นอกจากภาคการส่งออกแล้ว ไต้หวันตั้งใจที่จะปรับเปลี่ยนท่าเรือทั้ง 7 ให้เป็นท่าเรือขนส่งอัจฉริยะ (Smart Logistics) ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยมุ่งผลักดันท่าเรือ “ไทเป” เป็นท่าเรือนำร่อง เนื่องจากท่าเรือไทเป เป็นท่าเรือที่ใหญ่ที่สุดทางตอนเหนือของไต้หวัน และเป็นท่าเรือที่มีที่ดินจำนวนมาก พร้อมสำหรับการพัฒนาและใช้งานในเชิงพาณิชย์ ซึ่งโครงการปรับปรุงท่าเรือครั้งนี้จะมุ่งเน้นพัฒนาท่าเรือไทเปตอนใต้หมายเลข “S04 และ S05” ให้เป็นศูนย์กลางการขนส่งอัจฉริยะ เพื่ออำนวยความสะดวกในการขนส่ง โดยจะเป็นการนำเทคโนโลยี “5G” และ AI มาบูรณาการในการพัฒนาท่าเรือ ซึ่งจุดเด่นของ 5G คือความรวดเร็วและศักยภาพในการเชื่อมต่อกับอุปกรณ์อินเตอร์เนตทุกชนิด หรือที่เรียกอีกอย่างว่า “Internet of Thing (IoT) และ “AI” ปัญญาประดิษฐ์ที่สามารถจัดการข้อมูลจำนวนมหาศาล และประมวลผลออกมาผ่านระบบคำสั่งอย่างรวดเร็ว

1000x651_225541097960  

ระบบการทำงานของนวัตกรรมทั้ง 2 จะ นำมาซึ่งการขนส่งอัจฉริยะ อาทิ ตู้คอนเทนเนอร์อัจฉริยะ คือการตรวจสอบระบบตู้สินค้าและติดตามโดยใช้เทคโนโลยีที่เชื่อมต่อกันระหว่างปลาย-ต้นทางของศูนย์บัญชาการอัจฉริยะ กล่าวคือ การส่งออกตู้คอนเทนเนอร์ในแต่ละครั้งจะมีปริมาณมาก ดังนั้นระหว่างการขนส่ง อาจเกิดการตกหล่นของสินค้า ซึ่งการใช้เทคโนโลยีในการระบุและตรวจสอบสินค้า ผ่านระบบซอฟต์แวร์จะทำให้สามารถอ่านข้อมูลบนตู้สินค้า เพื่อระบุตู้สินค้าที่ต้องการติดตามได้ และยังเป็นการป้องกันสินค้าสูญหาย ตลอดจนช่วยให้ท่าเรือและศูนย์กลางการขนส่งสินค้าอื่น ๆ สามารถจัดตู้คอนเทนเนอร์ได้อย่างสะดวกมากขึ้น และอีกหนึ่งการขนส่งอัจฉริยะที่น่าสนใจคือ รถบรรทุก/รถลำเลียงสินค้าอัจฉริยะ โดยจะเป็นการใช้เทคโนโลยีเข้ามาทำงานแทนมนุษย์ ซึ่งจะมีหลักการทำงานคือ การประยุกต์ใช้เทคโนโลยี IoT กับกล้องที่สามารถตรวจจับวัตถุและมองเห็นสภาพแวดล้อมทั่วคันรถได้ด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ร่วมกับ Big Data Analytics วิเคราะห์ข้อมูลช่วยให้เจ้าหน้าที่สามารถควบคุมการลำเลียงสินค้าระยะไกลและมองเห็นภาพจริงที่ส่งกลับไปยังศูนย์บัญชาการอัจฉริยะ ซึ่งการบูรณาการทางเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นสามารถเพิ่มขีดจำกัดความสามารถในการลำเลียงตู้สินค้า กล่าวคือ สามารถรองรับตู้สินค้าได้มากขึ้น และราบรื่นขึ้น โดยแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดในท่าเรือ นำเทคโนโลยีมาช่วยเสริมการทำงานของมนุษย์ ลดต้นทุนค่าโลจิกติกส์ ตลอดจนเพิ่มความปลอดภัยและแม่นยำเพิ่มขึ้น 

สำหรับการขนส่งสินค้าทางเรือระหว่างไทย-ไต้หวัน ในเดือน มิ.ย. 2564 ไทยส่งออกสินค้ามายังไต้หวันมูลค่ารวมกว่า 404.8 ล้าน USD โดยสินค้าที่มีมูลค่าส่งออกสูงสุดได้แก่ สินค้าอุตสาหกรรม คิดเป็นร้อยละ 80.60 ของการส่งออกทั้งหมด โดยไทย-ไต้หวัน มีการร่วมมือกันทางการค้าระหว่างท่าเรือ ซึ่งมีเส้นทางการเดินเรือทั้งหมด 3 สาย ได้แก่ Evergreen Line,Wanhai,Shipment Link ซึ่งท่าเรือการค้าที่สำคัญระหว่างไทย-ไต้หวันได้แก่ ท่าเรือจีหลง ท่าเรือเกาสง และ ท่าเรือไทเป โดยมีเส้นทางเดินเรือเริ่มที่ ท่าเรือจีหลง-ไทเป-ไถจง-เกาสง-แหลมฉบัง-กรุงเทพ โดยท่าเรือแหลมฉบังเป็นท่าเรือขนส่งสินค้าที่ไต้หวันส่งไปไทยมากที่สุด ซึ่งการขนส่งทางเรือระหว่างไทย-ไต้หวันใช้ระยะเวลาขนส่งประมาณ 2 สัปดาห์  

นอกจากเส้นทางขนส่งดังกล่าวแล้ว ไทยและไต้หวัน ยังมีเส้นทางขนส่งพิเศษที่เพิ่งเปิดดำเนินการเมื่อปี 2563 ที่ผ่านมาคือ เส้นทาง TVT (Taiwan Vietnam Thailand) ซึ่งบริการดังกล่าวเป็นความร่วมมือระหว่าง Interasia Line และสายการเดินเรือ Wan Hai โดยจะปฏิบัติการด้วยเรือขนส่งสินค้าจำนวน 2 ลำ ในเส้นทางการวนเรือ Taipei – Taichung – Cat Lai – Bangkok – Laem Chabang  ก่อนจะวนกลับไปยังท่าเรือ Taipei อีกครั้ง โดยเส้นทางขนส่งใหม่นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับการขนส่งทางเรือระหว่างไทย ไต้หวัน และเวียดนาม ซึ่งโครงการปรับปรุงท่าเรือนี้ จะทำให้การขนส่งสินค้าจากไทยไปไต้หวันมีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากไต้หวันจะมีท่าเรือที่รองรับตู้คอนเทนเนอร์ได้มากขึ้น อีกทั้งจะยังสามารถขนส่งสินค้าที่อาจมีข้อจำกัดทางเวลาผ่านตู้คอนเทนเนอร์ อาทิ สินค้าแช่แข็ง ซึ่งสามารถควบคุมปริมาณและเวลาในการขนส่ง รวมถึงการเคลื่อนย้ายไปยังการขนส่งปลายทางได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย 

taiwan-is-not-thailand-2_(1)

 

ข้อมูลและภาพจาก

https://focustaiwan.tw/business/202108170007?fbclid=IwAR0AJRhb-stOCzZlR8GWls62i-7uxWSEHZ8jR9omQLLE9OLz-bXIpjpTh1Q

https://udn.com/news/story/7238/5677935

https://money.udn.com/money/story/5612/5677935

https://www.logistics-manager.com/th/advanced-container-technology/

https://www.logistics-manager.com/th/interasia-lines-to-launch-taiwan-vietnam-thailand-service/

https://www.pacificports.org/taipei-port-set-to-step-up-as-smart-car-logistics-port-2/

https://globthailand.com/china-261120/

http://tap-magazine.net/index.php/2019/11/21/smart-port/

https://www.shipafreight.com/tradelane/taiwan-to-thailand/

https://en.portnews.ru/news/298111/

https://sitem.co.th/language/th/how-an-intelligent-shipping-container-detection-system-2/

https://thaibizchina.com/%e0%b8%97%e0%b9%88%e0%b8%b2%e0%b9%80%e0%b8%a3%e0%b8%b7%e0%b8%ad%e0%b9%80%e0%b8%9b%e0%b9%8b%e0%b8%a2%e0%b9%84%e0%b8%ab%e0%b9%88%e0%b8%a5%e0%b8%b8%e0%b8%a2%e0%b8%97%e0%b8%94%e0%b8%aa%e0%b8%ad%e0%b8%9a/