สตาร์ทอัพในไต้หวัน

สตาร์ทอัพในไต้หวัน

วันที่นำเข้าข้อมูล 19 ธ.ค. 2565

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 19 ธ.ค. 2565

| 1,215 view
  1. ทิศทางของสตาร์ทอัพไต้หวัน

img-1636367246-19150

โดยที่ไต้หวันมีความเชี่ยวชาญด้านอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศขั้นสูง ส่งผลให้ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา มีธุรกิจสตาร์ทอัพเกิดขึ้นใหม่จำนวนมาก อาทิ (1) Gogoro สตาร์ทอัพยูนิคอร์นรายแรกของไต้หวัน ซึ่งเป็นผู้ผลิตสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้ารายใหญ่ในไต้หวัน (2) Appier สตาร์ทอัพผู้เชี่ยวชาญแพลตฟอร์มปัญญาประดิษฐ์ (AI Platforms) เพื่อเป็นกลไกช่วยตัดสินใจในด้านการตลาด และการวิเคราะห์พฤติกรรมของลูกค้า (3) 91APP สตาร์ทอัพผู้เชี่ยวชาญด้าน SaaS (Software as a Service) แห่งแรกในไต้หวัน ซึ่งเป็นผู้พัฒนาแอปพลิเคชันให้แก่บริษัทต่าง ๆ และยังมีบริษัทสตาร์ทอัพเกิดขึ้นใหม่อีกมากมาย การเติบโตของธุรกิจสตาร์ทอัพมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง ทั้งนี้อุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูงของไต้หวันเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมสำคัญที่ส่งเสริมการขยายตัวของ GDP ไต้หวันในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา เนื่องจากศักยภาพที่สูงของเทคโนโลยี พฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้บริโภค ตลอดจนนโยบายสนับสนุนสตาร์ทอัพของภาครัฐไต้หวัน โดยเฉพาะในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19

img-1634779241-88149_900

ธุรกิจสตาร์ทอัพในไต้หวันไม่เพียงแต่ให้ความสำคัญกับตลาดภายในเท่านั้น แต่ยังได้ขยายตลาดไปยังต่างประเทศอีกด้วย เช่น (1) Gogoro ที่นอกจากได้มีการสร้างระบบเปลี่ยนแบตเตอรี่ Gogoro Network ในไต้หวันแล้ว ยังได้มีการนำไปใช้งานในต่างประเทศ อาทิ จีน อินโดนีเซีย และอิสราเอล นอกจากนี้ บริษัทฯ มีแผนที่จะเข้าตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯ และเสนอขายหุ้นออกใหม่ (IPO) ภายในปี 2565 นี้ด้วย และ (2) Appier ซึ่งได้รับการจดทะเบียนอย่างเป็นทางการในตลาดหลักทรัพย์ญี่ปุ่นในเดือน มี.ค. 2564 ที่ผ่านมา

  1. การส่งเสริมสตาร์ทอัพจากภาครัฐและหน่วยงานต่าง ๆ

ทั้งหน่วยงานภาครัฐส่วนกลางและท้องถิ่นของไต้หวันต่างมีนโยบายช่วยเหลือสตาร์ทอัพ อาทิ เงินอุดหนุนช่วยเหลือสตาร์ทอัพ กองทุนเงินกู้ยืมสำหรับธุรกิจ SMEs และหลักสูตรต่าง ๆ ซึ่งสามารถยื่นขอได้ โดยมีเงื่อนไขแตกต่างกันไป เช่น (1) กองทุน IEIT หน่วยงานสนับสนุน Startup ธุรกิจขนาดเล็ก-กลาง (2) กองทุนเยาวชน (Young Entrepreneur Financing Loan) เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีกิจการร่วมค้า accelerator และ incubator เอกชนที่ช่วยส่งเสริมช่วยเหลือสตาร์ทอัพหลายแห่ง ทั้งเพื่อการทำตลาดในประเทศและต่างประเทศ เช่น 500 Startups, Techstars, SparkLabs, Infinity Ventures และ BE Capital เป็นต้น

  1. ความร่วมมือกับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ในปี 2559 รัฐบาลของประธานาธิบดีไช่อิงเหวินได้กำหนดนโยบาย New Southbound ซึ่งส่งเสริมความร่วมมือกับประเทศเป้าหมาย 18 ประเทศ รวมถึงประเทศไทย มุ่งเน้นหลักการเอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกัน และการพัฒนาในหลายมิติ ความร่วมมือทางการค้าและเศรษฐกิจ ตลอดจนด้านวัฒนธรรมและการศึกษา ทั้งนี้ ในช่วงปีที่ผ่านมามีการลงทุนจากไทยไปไต้หวันและจากไต้หวันไปยังไทยเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เป็นสัญญาณที่ดีของแนวโน้มการลงทุนระหว่างไทยและไต้หวันในอนาคต อนึ่ง เมื่อวันที่ 27 ส.ค. 2565 รัฐบาลไต้หวันได้จัดตั้งกระทรวงดิจิทัลในไต้หวัน โดยเมื่อวันที่ 7 ต.ค. 2565 นางสาวไช่อิงเหวิน ประธานาธิบดีไต้หวัน ได้กล่าวสุนทรพจน์ในห้วงการประชุม Yushan Forum ประจำปี 2565 ว่าไต้หวันมีชื่อเสียงในด้านบุคลากรผู้เชี่ยวชาญและการผลิตเทคโนโลยีขั้นสูง ซึ่งคาดหวังว่าจะผสานความสามารถด้านนวัตกรรมเทคโนโลยีดิจิทัลของไต้หวัน กับการผลักดัน “Digital New Southbound” เพื่อช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจโลกและในภูมิภาคด้วย

EGWBqo5U4AAq60c

  1. โอกาสสำหรับประเทศไทย

TAIWAN_THE_HEART_OF_ASIA

ไต้หวันมีข้อได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ซึ่งอยู่ในจุดศูนย์กลางของภูมิภาคเอเชีย โดยมีระบบขนส่งทางทะเลและทางอากาศสู่ภายนอก และมีโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ภายในที่ครอบคลุม อีกทั้งไต้หวันยังมีห่วงโซ่อุปทานอุตสาหกรรมที่ปลอดภัยและสมบูรณ์ ซึ่งสามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้า กอปรกับด้านนโยบายที่ส่งเสริมการลงทุนของภาครัฐ กฎหมายที่คุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา และบุคลากรในไต้หวันมีศักยภาพและเชี่ยวชาญในด้านเทคโนโลยี จึงนับเป็นโอกาสอันดีของสตาร์ทอัพไทยที่สามารถนำจุดแข็งของประเทศไทยในด้านต่าง ๆ มาร่วมมือกับสตาร์ทอัพไต้หวัน และสามารถประยุกต์ใช้กับ การเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัลในด้านต่าง ๆ อาทิ ด้านอิเล็กทรอนิกส์ เทคโนโลยีชีวภาพ เทคโนโลยีการเกษตรอัจฉริยะ เทคโนโลยีทางการแพทย์

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ