แนวคิดเรื่องการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนในไต้หวัน

แนวคิดเรื่องการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนในไต้หวัน

วันที่นำเข้าข้อมูล 10 ม.ค. 2566

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 10 ม.ค. 2566

| 2,328 view

image7(1)   

ปัจจุบัน กระแสของโลกกำลังมุ่งไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน รวมถึงการดำเนินธุรกิจโดยไม่มุ่งหวังถึงผลกำไรเพียงอย่างเดียว แต่คำนึงถึงความสมดุลของทุกสรรพสิ่ง ทั้งการดูแลสิ่งแวดล้อม (Environmental) ความรับผิดชอบต่อสังคม (Social) และการกำกับดูแลกิจการที่ดี (Governance) ตามแนวคิดที่เรียกว่า Environmental, Social, Governance หรือ ESG ซึ่งไต้หวันก็เป็นอีกหนึ่งเขตเศรษฐกิจที่มีการดำเนินการเรื่องนี้อย่างจริงจัง เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งของธุรกิจจากภายใน ตลอดจนสร้างความโดดเด่นในสายตานักลงทุนต่างชาติ

ในปี 2565 ตลาดหลักทรัพย์ไต้หวัน (Taiwan Stock Exchange: TWSE) กำหนดให้บริษัทที่จดทะเบียนใน TWSE และ Taipei Exchange (TPEx) เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินการด้าน ESG ของบริษัทในรูปแบบรายงานเป็นประจำทุกปี โดยนับเป็นหนึ่งในความพยายามของรัฐบาลไต้หวันในการพัฒนาตลาดการเงินที่ยั่งยืนตามแผน Green Finance Action Plan 3.0 และการบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ใน ปี ค.ศ. 2050

นอกจากนั้น รัฐบาลไต้หวันยังมีการดำเนินการอย่างจริงจังในด้านการเพิ่มประสิทธิภาพของการใช้พลังงานหมุนเวียน โดยตั้งเป้าหมายให้มีการใช้พลังงานหมุนเวียนจากพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมเป็นสัดส่วนร้อยละ 20 ของพลังงานทั้งหมด ภายในปี ค.ศ. 2025 และมีกำหนดจะเพิ่มเป็นร้อยละ 60-70 ในปี ค.ศ. 2050 รวมถึงการกำหนดให้ยานยนต์ที่จำหน่ายใหม่ในปี ค.ศ. 2040 จะต้องเป็นยานยนต์ไฟฟ้าทั้งหมด

การดำเนินงานด้าน ESG ของธุรกิจในไต้หวัน มีตัวอย่าง อาทิ

(1) Taiwan Semiconductor หรือ TSMC ซึ่งเป็นบริษัทผู้นำด้านเทคโนโลยีของโลก ประกาศจะส่งเสริมสายพานการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมกับเครือข่ายในห่วงโซ่อุปทานกว่า 700 แห่ง ส่งผลให้บริษัทขนาดกลางและขนาดย่อมที่อยู่ในเครือข่ายต้องมีการดำเนินการด้าน ESG ด้วย แม้จะไม่ได้เป็นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ 

(2) Sinyi Realty บริษัทจัดหาอสังหาริมทรัพย์ในไต้หวัน ซึ่งเริ่มดำเนินธุรกิจตามแนวคิด ESG ตั้งแต่เมื่อ 40 ปีก่อน โดยมุ่งเน้นการรับใช้สังคมและดูแลสุขภาวะที่ดีของพนักงาน ล่าสุด บริษัทได้ขยายการดำเนินการด้าน ESG ออกไปในต่างประเทศ โดยการประกาศซื้อเกาะปูเลา เมนกาลุม (Pulau Mengalum) ในมาเลเซีย เป็นมูลค่า 1.4 พันล้านดอลลาร์ไต้หวัน เพื่อปลูกต้นไม้และอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

(3) Fubon Financial บริษัทแม่ของธนาคาร Fubon เป็นบริษัทแรกในไต้หวันที่ประกาศไม่ร่วมลงทุนในบริษัทการเงินที่มีการใช้ไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าถ่านหินมากกว่าครึ่งหนึ่ง ซึ่งในปี 2564 ที่ผ่านมาได้กำหนดนโยบาย ESG ใหม่ 4 ประการ คือ การลดคาร์บอน การเปลี่ยนผ่านไปสู่ดิจิทัล การเสริมความเข้มแข็ง และการสร้างเครือข่าย

(4) ร้านสะดวกซื้อและซูเปอร์มาร์เก็ต ทยอยเปลี่ยนอุปกรณ์ในร้านให้เป็นอุปกรณ์ประหยัดพลังงาน การใช้วัสดุอุปกรณ์ที่ทำมาจากพลาสติกรีไซเคิล รวมถึงการลดการใช้ถุงพลาสติกแบบ single use

(5) Foxconn ผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ของโลก ได้ตั้งเป้าหมายด้านแนวคิด ESG ไว้ในหลากหลายแนวทาง อาทิ ปัจจุบันมีการใช้พลาสติกรีไซเคิลมากกว่าร้อยละ 60 ลดความเข้มของน้ำลงร้อยละ 6 เมื่อเทียบกับปี 2563 มีการให้โอกาสการจ้างงานที่เท่าเทียม มีการดูแลสุขภาวะที่ดีของพนักงาน รวมถึงการเพิ่มสัดส่วนผู้บริหารเพศหญิงเป็นร้อยละ 30 นอกจากนั้นในปี 2564 Foxconn ได้มีการเปิดตัวแบรนด์ยานยนต์ไฟฟ้าของบริษัทภายใต้ชื่อ Foxtron ด้วย

การดำเนินการของภาคส่วนอื่น ๆ เพื่อส่งเสริมการดำเนินธุรกิจตามแนวคิด ESG มีตัวอย่าง อาทิ

(1) การจัดทำดัชนีความยั่งยืนไต้หวัน (Taiwan Sustainability Index - TWSI) โดยบริษัท Solactive บริษัทจัดทำดัชนีชั้นนำจากเยอรมัน ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยธุรกิจไทเป (National Taipei University of Business - NTUB) เพื่อติดตามผลประกอบการของบริษัทชั้นนำที่ให้ความสำคัญต่อการทำธุรกิจแบบยั่งยืนในไต้หวัน โดยพิจารณาจากผลประกอบการด้าน CSR ผลประกอบการทางการเงิน และคุณภาพตลาด ในด้านสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และการเปิดเผยข้อมูล

(2) การมอบรางวัลธุรกิจเพื่อความยั่งยืนในไต้หวัน (Taiwan Corporate Sustainability Award) โดยสถาบันไต้หวันเพื่อพลังงานที่ยั่งยืน (Taiwan Institute for Sustainable Energy - TAISE) เพื่อคัดเลือกและให้รางวัลแก่บริษัทที่มีผลการดำเนินการด้าน ESG ที่โดดเด่นในไต้หวัน รวมถึงมีการเปิดสถาบันเพื่อให้องค์ความรู้ในการดำเนินการด้าน ESG แก่บริษัทต่าง ๆ ในไต้หวันด้วย

โอกาสและผลกระทบต่อธุรกิจไทย

การขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนตามโมเดลเศรษฐกิจบีซีจี (Bio-Circular-Green Economy) ของไทย สอดคล้องและเป็นไปในทิศทางเดียวกับกระแสเรื่อง ESG ในไต้หวัน

BCG-Delight-Feature-image_1_BCG-Model

การส่งเสริมการลงทุนในสาขาที่เกี่ยวข้องกับ BCG สามารถดึงดูดนักลงทุนต่างชาติทั้งรายเล็กและรายใหญ่ เนื่องจาก BCG Economy Model มีความครอบคลุมอุตสาหกรรม ตั้งแต่ธุรกิจการแยกขยะพลาสติกรีไซเคิล การแปรรูปวัตถุดิบด้านเกษตรกรรม การต่อยอดสู่การทำเกษตรสินค้าชีวภาพ จนถึงอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เช่น การผลิตโซลาร์เซลล์ อุตสาหกรรมปิโตรเคมี และการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (EV) และชิ้นส่วน

ปัจจุบัน นักลงทุนไต้หวันมีการลงทุนในกิจการรถยนต์ไฟฟ้าอยู่แล้ว โดยในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2565 ก็มีการลงทุนเพิ่มขึ้นใน 2 โครงการใหญ่ รวมมูลค่าราว 5.4 หมื่นล้านบาท

สำหรับสาขาอื่น ๆ ที่ไทยมีศักยภาพในการดึงดูดการลงทุนจากไต้หวันยังมี อาทิ สาขาพลังงานทดแทน ซึ่งไต้หวันมีความจำเป็นต้องเพิ่มการใช้พลังงานทดแทนมากขึ้น แต่ฐานการผลิตภายในประเทศยังไม่เพียงพอ จึงมีความจำเป็นต้องขยายฐานไปยังต่างประเทศ และไทยก็มีศักยภาพทั้งการผลิตโซลาร์เซลล์และกังหันลม 

นอกจากนั้น นักธุรกิจ รวมทั้ง start-up ไต้หวันในกลุ่มสุขภาพดิจิทัล กลุ่มอาหารและการเกษตร รวมถึงกลุ่มเศรษฐกิจสีเขียวและเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยเฉพาะด้านการจัดการทรัพยากรและการจัดการของเสีย ยังให้ความสนใจในการลงทุนในไทยด้วย

green-deal

ในภาพรวม การขยายโอกาสความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนไทยกับไต้หวันในด้านความยั่งยืนและ ESG นอกจากจะเป็นโอกาสในการยกระดับโครงสร้างทางเศรษฐกิจของไทยให้แข็งแกร่ง และพร้อมรับมือกับสถานการณ์ความท้าทายในรูปแบบใหม่ ๆ แล้ว ยังเป็นการผลักดันให้ประเทศไทยเข้าเป็นศูนย์กลางการผลิตในสาขาที่ศักยภาพสูงและอยู่ในเทรนด์ใหม่ของโลก รวมถึงเป็นการลดความเสี่ยงต่อการส่งออกในอนาคต ในกรณีที่มีคู่ค้าของไทยประกาศใช้มาตรการกีดกันทางการค้าที่เกี่ยวข้องกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่น สหภาพยุโรปประกาศยุทธศาสตร์การปฏิรูปสีเขียว (European Green Deal) กลไกการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน (CBAM) ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ตุลาคม 2566 ตลอดจนการที่สหรัฐฯ ประกาศร่างกฎหมาย Clean Competition เพื่อกำหนดราคาคาร์บอน ญี่ปุ่น ประกาศยุทธศาสตร์การเติบโตสีเขียว และจีนเปิดตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิตระดับชาติ


ข่าวใกล้เคียง

ข่าวใกล้เคียง