สังคมไร้เงินสดในไต้หวัน

สังคมไร้เงินสดในไต้หวัน

วันที่นำเข้าข้อมูล 24 ก.พ. 2566

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 4 ก.ย. 2566

| 7,444 view

cashlessso2

ผลจากปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นปัจจัยสำคัญที่กระตุ้นให้ ทั้งไทยและไต้หวัน เปลี่ยนผ่านไปสู่ “สังคมไร้เงินสด” รวดเร็วยิ่งขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ สำหรับไต้หวัน คณะกรรมการกำกับดูแลสถาบันการเงินไต้หวัน (Financial Supervisory Commission - FSC) ได้เสนอ “แผนการเพิ่มสัดส่วนการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ขึ้นเป็นเท่าตัวในระยะเวลา 5 ปี” ตั้งแต่เมื่อปี พ.ศ. 2558 โดยดำเนินมาตรการเพื่อสนับสนุนด้านนโยบาย รวมทั้งกำหนดเป้าหมายในการเพิ่มสัดส่วนการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์จากร้อยละ 26 เป็นร้อยละ 52 ภายในปี พ.ศ. 2563 ทั้งนี้ จากสถิติ ณ ไตรมาสที่ 3 ของปี พ.ศ. 2564 พบว่า สัดส่วนการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ของไต้หวัน อยู่ที่ร้อยละ 59.38 ของการชำระเงินทั้งหมด โดยตลอดทั้งปี การทำธุรกรรมที่ไม่ใช่เงินสดมีจำนวนมากกว่า 5.458 พันล้านรายการ และมีมูลค่ารวมกว่า 6.17 ล้านล้านดอลลาร์ไต้หวัน

เทคโนโลยีสู่สังคมไร้เงินสดในไต้หวัน

  1. เทคโนโลยีแตะเพื่อจ่าย

1.1 การชำระเงินค่าบริการขนส่งสาธารณะและบัตรเงินสด

ไต้หวันมีการใช้บัตร EasyCard ซึ่งเป็นบัตรแตะจ่ายเพื่อใช้ชำระค่าขนส่งสาธารณะแบบรวมศูนย์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 โดยปัจจุบัน EasyCard ยังคงใช้เทคโนโลยี NFC ชนิด Mifare Classic ซึ่งเป็นเทคโนโลยีแตะจ่ายรุ่นแรกที่ถูกคิดค้นในปี พ.ศ. 2537 ทำให้ยังไม่สามารถเชื่อมโยงกับ Apple Wallet ได้ อย่างไรก็ดี EasyCard ก็กำลังปรับโฉมใหม่ โดยออกบัตร SuperCard ซึ่งนำเทคโนโลยี NFC ชนิด JAVA CPU Card มาใช้ ให้สามารถแตะเพื่อเติมเงินผ่านแอปพลิเคชัน EasyWallet บน iPhone ได้ เพื่อให้เทคโนโลยีแตะเพื่อจ่ายในการชำระเงินค่าบริการขนส่งสาธารณะมีพัฒนาการขึ้นไปอีกขั้น

1.2 บัตรเครดิตและบัตรเดบิต

บัตรเครดิตและบัตรเดบิตของไต้หวันมีการพัฒนาตามกระแสของโลกอย่างรวดเร็ว ทั้งการเปลี่ยนผ่านจากการรูดบัตรไปสู่การแตะเพื่อจ่ายผ่านเทคโนโลยี NFC ของสองผู้ให้บริการรายใหญ่ของโลกอย่าง Visa Contactless และ Mastercard Contactless ซึ่งเป็นการเพิ่มความปลอดภัยโดยการที่ผู้ใช้งานไม่จำเป็นต้องยื่นบัตรให้กับผู้รับชำระในการชำระเงิน ทำให้ไม่สามารถถูกแอบเก็บบันทึกข้อมูลบัตรเพื่อนำไปใช้ในการทำธุรกรรมออนไลน์ นอกจากนั้น เครื่องรับชำระบัตรเครดิตทั่วไต้หวันยังรองรับการจ่ายเงินผ่านสมาร์ทโฟนโดยการแตะจ่ายอย่าง Apple Pay และ Samsung Pay ด้วย

scan-contactless-card-hands-800x450

  1. เทคโนโลยี QR Payment

2.1 แอปพลิเคชันโดยภาครัฐ

ไต้หวันมีความพยายามปรับเปลี่ยนเข้าสู่สังคมไร้เงินสด โดยมีการเปิดตัวแอปพลิเคชันชำระเงินต่าง ๆ มากมาย โดยของภาครัฐเอง คือ แอปพลิเคชัน “Taiwan Pay” โดยผู้ใช้สามารถสแกน QR Code ภายใต้มาตรฐานที่รองรับ เพื่อรับเงินผ่านแอปพลิเคชันธนาคารได้ (คล้ายระบบพร้อมเพย์ของประเทศไทย) รวมทั้งแอปพลิเคชัน NewTaiPay ของเมืองนิวไทเป ซึ่งเปิดให้ทดลองใช้เมื่อช่วงปลายปี พ.ศ.2565 ที่ผ่านมา  

01

2.2 แอปพลิเคชันโดยภาคเอกชน

ภาคเอกชนเองก็มีการบริการแอปพลิเคชันด้านการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์อย่างแพร่หลาย อาทิ LINE Pay และ JKO Pay ที่ได้รับความนิยม และมีสัดส่วนการใช้งานมากที่สุดในไต้หวัน ซึ่งแอปพลิเคชั่นเหล่านี้มุ่งเน้นความร่วมมือกับร้านค้าและธนาคาร เพื่อส่งเสริมการขายและเพื่อดึงดูดผู้ใช้เช่นเดียวกับในประเทศอื่น ๆ

2.3 การใช้เทคโนโลยี QR Payment ในระบบขนส่งสาธารณะ

แม้ปัจจุบันระบบรถไฟฟ้า MRT ไทเปจะยังไม่รองรับการเข้าใช้งานการใช้เทคโนโลยี QR Payment แต่ระบบรถไฟฟ้าที่เปิดให้บริการใหม่อย่าง KRTC เมืองเกาสง สามารถรับชำระผ่านการสแกน QR Code จากยอดเงินในกระเป๋าสตางค์ออนไลน์อย่าง iPass Money (ชื่อเดิม LINE Pay Money) ทางแอปพลิเคชัน LINE นอกจากนี้ รถเมล์โดยสารรุ่นใหม่ก็เริ่มมีการใช้เครื่องรับชำระที่รองรับระบบ QR Payment ด้วยแล้วเช่นกัน

01

  1. เทคโนโลยี Mobile Banking

ระบบ Mobile Banking ของธนาคารไต้หวันมีการให้บริการทั้งจากธนาคารแบบดั้งเดิมที่ต้องการเพิ่มความสะดวกสบายในการใช้งานให้กับลูกค้า และธนาคารที่ไม่มีสาขา เช่น LINE Bank ที่เปิดให้บริการทางแอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟน อย่างไรก็ดี ไต้หวันไม่ได้ยกเว้นค่าธรรมเนียมในการโอนเงินต่างธนาคารเหมือนกับไทย และระบบ Mobile Banking ก็มีความเข้มงวดต่อชาวต่างชาติ ทำให้ไม่ค่อยสะดวกในการใช้บริการมากนัก

ข้อดี-ข้อเสียของสังคมไร้เงินสด

cashlessso3  

  1. บทสรุป

แม้เทคโนโลยีการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ของไต้หวันจะพัฒนาอย่างต่อเนื่อง แต่ด้วยความที่ไต้หวันเป็นสังคมผู้สูงอายุ โดยไต้หวันจะก้าวเข้าสู่ super-aged society (มีสัดส่วนประชากรที่มีอายุมากกว่า 65 ปีเกินร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด) ทำให้รัฐบาลต้องดำเนินมาตรการเรื่องสังคมไร้เงินสดอย่างระมัดระวังและค่อยเป็นค่อยไป เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้สูงอายุที่ไม่มี know how ด้านเทคโนโลยี ดังเห็นได้ชัดในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมา รัฐบาลไต้หวันดำเนินการแจกคูปองเงินสดเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้กับประชาชนทั้ง 2 รูปแบบ คือ การรับคูปองแบบดิจิทัลผ่านแอปพลิเคชันชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ และการรับคูปองแบบกระดาษ เพื่อเข้าถึงประชาชนในทุกช่วงวัยได้มากที่สุด แต่ในทางกลับกัน การดำเนินนโยบายดังกล่าวก็อาจส่งผลกระทบให้การเปลี่ยนผ่านไปสู่การเป็นสังคมไร้เงินสดไม่สามารถทำได้อย่างเต็มรูปแบบนัก

ทั้งนี้ สำนักงานการค้าและเศรษฐกิจไทย จะแนะนำให้ผู้ประกอบการไทยทราบถึงแนวทางการเปิดใช้บริการการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ที่อาจเป็นประโยชน์ต่อธุรกิจของท่านในไต้หวันในบทความต่อไป

ADVERTISEMENTLittle Thai Alley